ประเด็นน่าสนใจ
- สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยได้เดินทางมารวมตัวกัน เรียกร้องให้ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ทบทวนร่างกฎหมายให้รถส่วนบุคคลรับส่งผู้โดยสารได้
- ทางสมาพันธ์ฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะนำมาซึ่งความไม่ยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และการประกอบอาชีพรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่)
- ชี้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่ารถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่)
วันนี้ (26 เม.ย. 64) สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยได้เดินทางมารวมตัวกัน เรียกร้องให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทบทวนร่างกฎหมายที่ให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถรับส่งผู้โดยสารผ่านระบบแอพพลิเคชั่นได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่เป็นอย่างมาก ที่ด้านหน้ากระทรวงคมนาคม
โดยทางสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ได้ระบุว่า จากการที่มีข่าวเรื่องกระทรวงคมนาคมได้เสนอร่างกฎหมาย ให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถรับส่งผู้โดยสารได้ผ่านทางระบบแอพพลิเคชั่น ทางสมาพันธ์ฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะนำมาซึ่งความไม่ยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และการประกอบอาชีพรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่)
เนื่องจาก ตามกฎหมาย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้รถที่จะนำมาใช้เป็นรถรับจ้างตามกฎหมาย จะต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะและรถยนต์บริการเท่านั้น จะจดทะเบียนแบบอื่นไม่ได้ นอกจากนี้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่ารถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า อัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระถูกกว่า ค่าประกันถูกกว่า และยังไม่ถูกกำหนดเรื่องขนาดเครื่องยนต์แบบรถยนต์รับจ้างสาธารณะ ที่ถูกกำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกวว่า 1,600 cc
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปฎิเสธผู้โดยสาร ที่รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้โดยการไม่กดรับงาน ซึ่งผู้โดยสารก็จะไม่ทราบว่าถูกปฏิเสธงาน แต่รถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) หากปฏิเสธผู้โดยสารจะมีความผิด เพราะเป็นการตกลงกันซึ่งหน้า ด้วยเหตุนี้จึงเห็นควรคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
ภาพ : กฤติกร จิตติอร่ามกูล