มาเรียม ลูกพะยูน ลูกพะยูนน้อย "มาเรียม"

ย้อนไทม์ไลน์ ลูกพะยูนน้อย “มาเรียม”

จุดเริ่มต้นของการพบ “มาเรียม” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2562 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบเจอพะยูนเกยตื้น บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…

Home / NEWS / ย้อนไทม์ไลน์ ลูกพะยูนน้อย “มาเรียม”

ประเด็นน่าสนใจ

  • 29 เม.ย. 2562 พบลูกพะยูนเกยตื้น เจ้าหน้าที่ฯเข้าช่วยเหลือ และตั้งชื่อให้ว่ามาเรียม
  • 17 ส.ค.มาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยตายแล้ว
  • หลังผ่าซากชันสูตร “มาเรียม” หมอเผยพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วน และอักเสบ

จุดเริ่มต้นของการพบ “มาเรียม” ครั้งแรก

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2562 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบเจอพะยูนเกยตื้น บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง เจ้าหน้าที่ อช.หาดนพฯ กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ตรวจสอบ

ทำให้ทราบว่าเป็นพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6-7 เดือน จึงได้นำพะยูนไปปล่อยบริเวณบ้านแหลมจูโหย ม.1 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง

ภาพพบมาเรียมครั้งแรก

เฟซบุ๊ก Nantarika Chansue ซึ่งเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เคยเปิดเผยเรื่องราวของมาเรียมไว้ว่า

เนื่องจากมาเรียมอายุยังน้อย ฟันก็เพิ่งเริ่มขึ้นไม่กี่ซี่ ยังไม่พ้นเหงือกพอที่จะกินหญ้าถนัด จึงต้องกินนมเป็นหลัก ทางเจ้าหน้าที่ฯ ใช้สูตรของนมพะยูนจากต่างประเทศ โดยใช้นมผงที่มาจากแพะและผสมวิตามินกับสารอาหารที่จำเป็น กินวันละประมาณ 2 ลิตร ทุก 1-2 ชั่วโมง

สิ่งยึดเหนี่ยวของมาเรียมที่รูปร่างใกล้เคียงแม่ที่สุด คือ เรือแคนูสีส้ม (แม่ส้ม) ทุกครั้งที่เธอต้องการความรักความอบอุ่น เธอจะว่ายไปอยู่ใต้เรือ นอนหงายเอาแขนกอดเรือบ้าง ว่ายตามไปข้างๆ เหมือนว่ายไปกับแม่บ้าง หรือเอาตัวว่ายถูไปมา

ตอนกลางคืนที่มาเรียมต้องอยู่ตัวเดียวมืดๆ มาเรียมมักไปซุกหินบ้าง (หินแม่) ท่อนไม้ (ไม้แม่) บ้าง ถ้าเผลอน้ำลงก็เกยตื้น เพราะไม่มีแม่มาพาไปยังที่น้ำลึกพอ โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังอยู่ 24 ชม. จึงช่วยได้ทัน

พัฒนาการมาเรียม

นับจากนั้นมา เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ติดตามเฝ้าระวังและอนุบาลลูกพะยูน มาเรียม ป้อนนม ป้อนหญ้าทะเลจำนวน 1 ขีด ได้พายเรือ (แม่ส้ม) พามาเรียมว่ายน้ำออกกำลังกายตลอด

ต่อมาเมื่อปลานเดือน มิ.ย. ทางอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบชุดอุปกรณ์การดูแลมาเรียม พร้อมสั่งติดตั้งกล้องไลฟ์สด เกาะติดชีวิตพะยูนมาเรียม หวังช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้กับมาเรียม และเผยให้ผู้คนได้เห็นกิจวัตรประจำวันของทีมสัตวแพทย์และพี่เลี้ยง ซึ่งในช่วงเดือน มิ.ย. พะยูนน้อยมาเรียม ปรับตัวได้ดี สามารถว่ายน้ำตามกระแสน้ำขึ้น-ลงได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ยังมีทีมพี่เลี้ยงยังเฝ้าดูแลตลอด 24 ชม.

มาเรียมมักจะเกยตื้นบ่อยครั้ง แต่มีก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลนำมาเรียมออกไปปล่อยลงสู่น้ำลึกเสมอ มีการเฝ้าระวังมาเรียมตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีน้ำขึ้นและลงเร็วกว่าปกติ รวมไปถึงจัดเวรยามเฝ้าระวังภัยคุกคามต่อการอนุบาลมาเรียม

ช่วงเดือน ก.ค. มาเรียมไม่ค่อยเกยตื้น และช่วงน้ำลดสัตวแพทย์ได้พามาเรียมหัดกินหญ้าทะเลด้วยตัวเอง

มาเรียมส่งสัญญาณไม่ค่อยดี

ช่วงเย็นของวันที่ 7 ส.ค. ระหว่างสัตวแพทย์พามาเรียมกินหญ้าทะเลอยู่หน้าอ่าว พบว่ามีพะยูน ขนาดโตเต็มวัย ทำให้มาเรียม ตกใจและว่ายน้ำหนีกลับเข้ามาในอ่าวเบื้องต้นพบว่ามาเรียมมีอาการอ่อนเพลีย ดื่มนมได้น้อย และไม่ค่อยจะว่ายน้ำ ทางทีมสัตว์แพทย์จึงมีความเห็นว่าต้องทำการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด24 ชั่วโมง

วันที่ 8 ส.ค.มาเรียมมีอาการซึม และไม่กินอาหาร โดยเฉพาะเวลากลางวันมีการหายใจผิดปกติ เปิดช่องจมูกค้างนาน 5 วินาที ลมหายใจมีกลิ่น ผายลมมีกลิ่นเหม็นมาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค.มาเรียมมีอาการตัวสั่น เกร็ง โก่งตัว ลอยบนผิวน้ำ ช่วง 20.00-06.00 ปฏิเสธการกินอาหาร

และเมื่อวันที่ 10 ส.ค.มาเรียมมีอาการทรงตัว ในช่วงบ่ายเริ่มว่ายไปกินหญ้าได้บ้าง

วันที่ 11 ส.ค.มาเรียมมีอาการซึมและอ่อนเพลียมากขึ้น อัตราหายใจ 3-4 ครั้ง มีการเปิดหายใจนานมาก สูงสุดถึง 30 วินาที อัตราการเต้นหัวใจ 140-150 ครั้งต่อนาที เสียงลมหายใจผิดปกติ มีอาการลอยตัวด้านซ้ายแสดงถึงการอักเสบของปอด ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นมาก บริเวณผนังท้องมีอาการบวมน้ำ เยื่อเมือกบริเวณในช่องปากพบแผลหลุมเปื่อย 2-3 แห่ง บริเวณแพนหางพบรอยด่างขาว คล้ายการติดเชื้อไวรัส

ผลการวินิจัยของทีมสัตวแพทย์เบื้องต้น พบว่ามาเรียมมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ แผลในช่องปากมีผลต่อความอยากกินอาหาร มีไข้ และอยู่ในสภาพขาดอาหารและน้ำ

ขณะนั้น ทางสัตวแพทย์ได้ระบุแนวทางการรักษาว่า จะมีการให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องอย่างน้อย 2 อาทิตย์ และเจาะเลือด เพื่อตรวจ พร้อมกับเสริมวิตามินและสารน้ำเกลือ หากจำเป็นอาจให้ทางเส้นเลือด ในส่วนของปากที่พบแผลจะทำการป้ายยาบริเวณแผลในปาก

ทีมงานที่ดูแลน้องมาเรียมกำลังช่วยกันทุกวิถีทางที่จะให้น้องหายเครียดและผ่อนคลายที่สุด

วันที่ 12 ส.ค. ช่วงกลางวันเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลมาเรียมบริเวณอ่าวดูหยง สัตวแพทย์พยายามป้อนคลูโคส และเกลือแร่ โดยการหายใจปกติ มีกลิ่นลดลง อัตราการหายใจ 2-6 ครั้งใน 5 นาที อัตราการเต้นของหัวใจ 114 ครั้งต่อนาที พยายามทำการเจาะเลือด แต่ยังไม่สามารถจับบังคับได้

และได้ทำการให้สารน้ำผ่านการสวนทวารไป 80 ml อาการมาเรียมดีขึ้น มีการตอบสนองในทางที่ดีต่อยาต้านเชื้อ เริ่มมีความอยากกินอาหาร กินหญ้าเองได้บ้าง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงแสดงว่าดีขึ้น กลั้นหายใจได้นานขึ้น สามารถดำน้ำได้ดี ว่ายน้ำ

วันที่ 13 ส.ค.62 เจ้าหน้าที่ร่วมกันเฝ้าติดตาม สังเกตการณ์พะยูน (มาเรียม) ตลอดทั้งคืน ลงไปอยู่กับพะยูน (มาเรียม) โดยการสับเปลี่ยนเวรกันลงไปอยู่กับมาเรียม คอยประคองมาเรียมกันเพื่อความปลอดภัย มาเรียมอาการยังทรงตัว กินนมน้อย สัตวแพทย์ให้กินหญ้าทะเลร่วมด้วย และยังคงมีทีมสัตว์แพทย์คอยระวังอยู่ไม่ห่าง

วันที่ 14 ส.ค. เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันเฝ้าติดตาม สังเกตการณ์ลูกพะยูน (มาเรียม) ตลอดทั้งคืน ทีมสัตวแพทย์และจิตอาสาได้ลงไปอยู่กับมาเรียม โดยการสับเปลี่ยนเวรกัน เพื่อความปลอดภัย สัตวแพทย์ได้พามาเรียมออกห่างจากชายฝั่งประมาณ 15 เมตร และว่ายน้ำอยู่ข้างๆ แม่ส้มโดยมีสัตวแพทย์คอยระวังอยู่ไม่ห่าง ได้ว่ายน้ำบ้างสลับกับการประคองของเจ้าหน้าที่ แต่ตลอดเวลาที่มาเรียมว่ายน้ำเองอยู่ใต้ท้องเรือแม่ส้มจะอยู่ตลอด

ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการเจาะเลือดมาเรียม และได้มอบหมายให้นายโสภณ แก้วพิทักษ์ เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง นำส่งเลือดไปยังโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป

เวลา 15.30 น.ของวันที่ 14 ส.ค.ทีมสัตวแพทย์ทำการย้ายมาเรียมมายังบ่อชั่วคราว หลังขนย้าย ตอนนี้น้องสงบขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจ 85 ครั้ง/นาที อัตราการหายใจ 3 ครั้งใน 5 นาที น้องสามารถกินหญ้าใบมะกรูด 30 กรัม หลังจากย้ายลงบ่อ จะปรับแผนการ monitor มาเรียมเป็นทุก 1 ชั่วโมง โดยจะวัดค่า อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ป้อนอาหาร วัดอุณหภูมิน้ำ และทำการสวนทวาร เพื่อช่วยเพิ่มสารน้ำ

ตลอดทั้งวันเจ้าหน้าที่เขตฯลิบงร่วมกับสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์เลหายากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตวแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจิตอาสา และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เฝ้าติดตามอาการพะยูน (มาเรียม) มีอาการทรงตัว

15 ส.ค.เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังอาการป่วยของน้องมาเรียม ในบ่อผ้าใบ โดยทำการสูบน้ำจากทะเลลงบ่อผ้าใบ ถ่ายน้ำออกจากบ่อพร้อมกันเป็นทำการวนน้ำ และต้มน้ำร้อนใส่ในบ่อ เพื่อปรับอุณหภูมิในบ่อให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของมาเรียม ทีมสัตวแพย์ และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ทำการเฝ้าระวังตลอดเวลา

อาการมาเรียมทรงตัว ทีมแพทย์ต้องเฝ้าดูอาการตลอด 24 ชม. ด้านสุขภาพทั่วไป น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 121 เซนติเมตร ความยาวรอบอก 75.5 เซนติเมตร พฤติกรรมและการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมมีอาการซึม และการตอบสนองเล็กน้อย

ร่างกายมีภาวะการแห้งน้ำมาก มีอาการเรอและผายลมเป็นระยะ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พบภาวะติดเชื้อเนื่องจากค่าเม็ดเลือดขาวรวมสูงขึ้น ค่าเคมีเลือดอยู่ในระดับปกติ อัตราการหายใจเฉลี่ย 4 ครั้ง ต่อนาที อัตราการเต้นของหัวใจ 80 ครั้งต่อนาที การเต้นของหัวใจขณะพักผ่อน 104 ครั้งต่อนาที

วันที่ 16 ส.ค.2562 ตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 08:00-19:00 น. เจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวังลูกพะยูน (น้องมาเรียม) ในบ่อผ้าใบ โดยทำการสูบน้ำจากทะเลลงบ่อผ้าใบถ่ายน้ำออกจากบ่อพร้อมกันเป็นทำการวนน้ำ และต้มน้ำร้อนใส่ในบ่อ เพื่อปรับอุณหภูมิในบ่อให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของมาเรียม และเอาทรายใส่กระสอบทำทางเดินบริเวณขอบบ่อผ้าใบ เก็บหญ้าทะเลให้น้องมาเรียม และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ทำการเฝ้าระวังตลอดเวลา

ต่อมาเวลาประมาณ 23:00 น.มาเรียมเกิดอาการช๊อก ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือโดยปั้มหัวใจ อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง สุดท้ายมาเรียมได้ตายลง ในเวลาประมาณเที่ยงคืน ของวันที่ 17ส.ค.

ขอบคุณภาพจาก Nantarika Chansue

ผ่าพิสูจน์ “มาเรียม” พบพลาสติก ต้นเหตุทำช็อกตาย

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2562 เวลา 05.52.น. ทีมสัตวแพทย์ 10 คนจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจุฬาฯ กองทัพเรือ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัยตรัง) ร่วมรายงานผลการชันสูตร ผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียมสาเหตุมาจากการช็อค

นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานดังนี้

  • ช่วงแรกของการรักษา สามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อก และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
  • รอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น ถูกพะยูนตัวใหญ่พุ่งชน หรือชนหินขณะที่เกยที่ตื้น
ขอบคุณภาพจาก Nantarika Chansue