วัคซีนโควิด-19

นายกฯ แถลงเตรียมจัดหาวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโดส ในสิ้นปี 2564

พร้อมงบเยียวยาเศรษฐกิจ 3.8 แสนล้านบาท

Home / NEWS / นายกฯ แถลงเตรียมจัดหาวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโดส ในสิ้นปี 2564

ประเด็นน่าสนใจ

  • เตรียมพร้อมอุปกรณ์ / เวชภัณฑ์ไว้แล้ว
  • เร่งรัดจัดหา / ฉีดวัคซีน / ฟื้นฟูเยียวยา
  • ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 8 แสนคน ( 50% คือบุคลากร) เป้าจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 64 นี้
  • จัดงบช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจ 3.8 แสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรี แถลงจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 และเตรียมงบเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่ม 3.8 แสนล้านบาท

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 23 เม.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ได้รับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด 2.1 ล้านโดส มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 8.4 แสนคน โดยรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตั้งเป้าหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จัดหาวัคซีนได้แล้ว 64 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนของแอสตราเซเนก้า 61 ล้านโดส เริ่มส่งมอบเดือน มิ.ย. นี้ 6 ล้านโดส และเดือนต่อๆ ไป เดือนละ 10 ล้านโดส วัคซีนของซิโนแวค 2.5 ล้านโดส โดยส่งมอบแล้ว 2 ล้านโดส และพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) มาเพิ่ม 5 แสนโดส และวัคซีนไม่ระบุยี่ห้อ ซึ่งได้รับบริจาคจากประเทศจีนอีก 5 แสนโดส สำหรับวัคซีนที่จัดหาเพิ่ม 36 ล้านโดส รัฐบาลเจรจาสำเร็จไปแล้ว มีวัคซีนของสปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส

ด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมงบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้อีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางปีงบประมาณ 2564 อีก 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท

สำหรับเตียงรองรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการเพื่อหาเตียงให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น หลังจากมีรายงานว่ามีผู้รอเตียงประมาณ 1,400 คน

ด้านนพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และเตียงในห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) ที่มีในขณะนี้ ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขต้อง ‘พยากรณ์การใช้เตียง’ และจัดเตรียมแผน ‘เบ่งเตียง’ รองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าหากมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1,500 คนต่อวัน ซึ่งประเทศไทยเหลือเตียงประมาณ 1,000 เตียง ใช้ได้ 52 เตียงต่อวัน จะรองรับได้ 19 วัน และกรุงเทพมหานคร เหลือ 138 เตียง ใช้ 10-13 เตียงต่อวัน จะรองรับได้อีก 6-8 วัน