ประเด็นน่าสนใจ
- นายกฯ ลงพื้นที่ฝ่าวิกฤตภัยแล้งสุรินทร์-บุรีรัมย์ กำชับเร่งเพิ่มปริมาณน้ำระยะสั้น-ยาว พร้อมช่วยเหลือประชาชน กำชับเร่งเพิ่มปริมาณน้ำระยะสั้น-ยาว
- จ.สุรินทร์ บางพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ คือ อ.เมืองสุรินทร์ และ อ.สำโรงทาบ
- จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ รวม 1.438 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา
ศาตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดที่ จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ ก่อนที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาในวันนี้ (19 ส.ค.62)
โดยอ่างเก็บน้ำสำคัญของ จ.สุรินทร์ คือ “อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง” และ “อ่างเก็บน้ำอำปึล” ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตประปา มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีปริมาณน้ำ 9.86% ของความจุ และอ่างเก็บน้ำอำปึล มีปริมาณน้ำ 1.09% ของความจุ
บางพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ คือ อ.เมืองสุรินทร์ และ อ.สำโรงทาบ 31 ตำบล 308 หมู่บ้าน 150,995 ไร่ ส่วนที่จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ คือ “อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด” และ “อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก” รวม 1.438 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ รมช.เกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
โดยเฉพาะการขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปา และสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ ขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มปริมาณน้ำ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่าง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะไปตรวจติดตามปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยกำชับเรื่องแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อความยั่งยืน
เช่น การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง โครงการผันน้ำจากแหล่งที่มีศักยภาพสูงกว่า การตั้งสถานีผลิตน้ำประปาในจุดที่มีแหล่งน้ำเพียงพอเพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำประปา เป็นต้น พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเกษตรกรให้ดีที่สุดด้วย