พะยูน มาเรียมตาย

ถอดบทเรียน จากการตายของพะยูน “มาเรียม”

สภาพชายหาดหาดยาว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ แหล่งหญ้าทะเลของจังหวัด ที่ฝูงพะยูนมักเข้ามาหากิน ขณะนี้พบขยะหลายประเภท ตั้งแต่พลาสติกจนไปถึงอุปกรณ์ทำประมงจำนวนมาก ลอยมาติดตามแนวชายหาดระยะทาง 3 กิโลเมตร เครือข่ายสมาคมคนรักเลกระบี่ ที่รับทราบข่าวการตายของพะยูนมาเรียม โดยพบขยะพลาสติกในท้องตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้เมื่อพะยูนมาเรียมเห็นพวกแพลงตอน…

Home / NEWS / ถอดบทเรียน จากการตายของพะยูน “มาเรียม”

ประเด็นน่าสนใจ

  • ผลการผ่าพิสูจน์ซากพบเศษพลาสติกในกระเพาะอาหารมาเรียม
  • เลขานุการมูลนิธิอันดามัน เรียกร้องทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อปัญหาขยะพลาสติก หลังพบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พะยูนมาเรียมตาย

สภาพชายหาดหาดยาว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ แหล่งหญ้าทะเลของจังหวัด ที่ฝูงพะยูนมักเข้ามาหากิน ขณะนี้พบขยะหลายประเภท ตั้งแต่พลาสติกจนไปถึงอุปกรณ์ทำประมงจำนวนมาก ลอยมาติดตามแนวชายหาดระยะทาง 3 กิโลเมตร

เครือข่ายสมาคมคนรักเลกระบี่ ที่รับทราบข่าวการตายของพะยูนมาเรียม โดยพบขยะพลาสติกในท้องตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้เมื่อพะยูนมาเรียมเห็นพวกแพลงตอน หรือตะไคร่น้ำสีเขียว ที่จับตัวอยู่กับถุงพลาสติก

จึงคิดว่าเป็นอาหารเหมือนปลาประเภทอื่น ที่เคยเห็นตอนออกทะเลเข้ามาตอดกินแล้วจังหวะหายใจจึงดูดเอาพลาสติกเหล่านี้เข้าไปด้วย พร้อมเรียกร้องให้การตายของมาเรียมเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมารักทะเลให้มากขึ้นอย่าทิ้งขยะลงในทะเล

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง และสมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า จากกรณีการตายของพะยูนมาเรียม ซึ่งผลการผ่าพิสูจน์ซากพบเศษพลาสติกในกระเพาะอาหารนั้น เป็นการสะท้อนให้เป็นว่าขณะนี้ปัญหาขยะกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกแล้ว

เนื่องจากร้อยละ 80 ของขยะในทะเล มาจากขยะบนฝั่ง โดยเฉพาะพลาสติกที่แตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ หรือไมโครพลาสติก ได้ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หอย และขณะนี้ได้ย้อนกลับมาสู่คน เมื่อมีการบริโภคสัตว์ทะเลเหล่านั้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตายของมาเรียมทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เห็นถึงแนวทางที่จะปฏิบัติช่วยเหลือลูกสัตว์กำพร้าว่าควรต้องทำอย่างไร ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะว่าบางทีธรรมชาติ ไม่ได้สวยงาม หรือดีอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีพวกมลภาวะต่างๆ เกิดขึ้น หรือว่าขยะต่างๆ เกิดขึ้น

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สำหรับการสตัฟฟ์ซากมาเรียมนั้น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จะเป็นฝ่ายดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จจะนำมาจัดแสดงที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ตต่อไป

นอกจากกรณีของพะยูนมาเรียมแล้ว ล่าสุดยังมีการพบซากพะยูนลอยมาเกยตื้นที่บริเวณอ่าวต้นไทร ด้านทิศตะวันตกของไร่เลย์ ท้องที่หมู่ 2 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพะยูนเพศเมีย น้ำหนัก 300 กิโลกรัมโดยประมาณ ความยาวลำตัว 260 เซนติเมตร ความกว้างรอบลำตัว 150 เซนติเมตร ความกว้างครีบหาง 80 เซนติเมตร

มีร่องรอยบาดแผลบนลำตัว มีรอยช้ำที่ใบพายด้านซ้าย เขี้ยวมีครบทั้ง 2 คู่ ลักษณะซากที่พบเป็นซากสดสภาพสมบูรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป ทั้งนี้ตลอดระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา พบพะยูนเกยตื้นตายในทะเลกระบี่แล้วรวม 6 ตัว