กสม. ข่าวสดวันนี้ เอกชัย อิสระทะ

เลขาธิการ กสม. รับเรื่องร้องเรียน ‘เอกชัย อิสระทะ’ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กักขัง

วันที่ 19 สิงหาคม 2562 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนจากนายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กรณีที่นายเอกชัย ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อไม่ให้เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่…

Home / NEWS / เลขาธิการ กสม. รับเรื่องร้องเรียน ‘เอกชัย อิสระทะ’ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กักขัง

ประเด็นน่าสนใจ

  • เลขาธิการ กสม. รับเรื่องร้องเรียน กรณี “นายเอกชัย อิสระทะ” ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กักขัง ในการร่วมเวทีประชาพิจารณ์ประทานบัตรเหมืองหิน จ. พัทลุง
  • เตรียมประสาน สตช. คุ้มครองความปลอดภัย
  • แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็น

วันที่ 19 สิงหาคม 2562 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนจากนายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กรณีที่นายเอกชัย ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อไม่ให้เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการดังนี้

  1. ดำเนินการประสานการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันมีหลักการและแนวปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม
  2. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีถูกข่มขู่ คุกคาม
  3. ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

นายโสพล กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า การส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ซึ่งถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ปัจจุบันรูปแบบการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีหลากหลายขึ้น เช่น โทรศัพท์ข่มขู่ การไปที่บ้านหรือการเข้าหาครอบครัว เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว การดักฟังโทรศัพท์ ติดตามความเคลื่อนไหว การเสนอผลประโยชน์ การอุ้มฆ่าหรือการลอบสังหาร หรือ การฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “การดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (SLAPP)” เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายกรณี ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบและจัดทำข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการป้องกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

“สำหรับกรณีนายเอกชัย สำนักงาน กสม. จะเร่งดำเนินการประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกระบวนการชี้ตัวผู้ถูกกล่าวหาซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนายเอกชัยเป็นสำคัญ รวมทั้งประสานการคุ้มครองไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ดำเนินการเรื่องการคุ้มครองพยานและการเยียวยาผู้ถูกละเมิด นอกจากนี้ จะมีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาให้ประทานบัตรกรณีดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง” นายโสพล กล่าว