ดวงจันทร์ สกัดออกซิเจน อิสราเอล

อิสราเอลพัฒนาเทคโนโลยีสกัด ‘ออกซิเจน’ จากดินของดวงจันทร์

องค์การอวกาศแห่งอิสราเอล (ISA) ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสกัดออกซิเจนจากดินของดวงจันทร์

Home / NEWS / อิสราเอลพัฒนาเทคโนโลยีสกัด ‘ออกซิเจน’ จากดินของดวงจันทร์

ประเด็นน่าสนใจ

  • องค์การอวกาศแห่งอิสราเอล (ISA) ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสกัดออกซิเจนจากดินของดวงจันทร์
  • โดยองค์การฯ ยังจะส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจในอวกาศห้วงลึก เช่น การส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร
  • มวลดินดวงจันทร์ประกอบด้วยออกซิเจนถึงราวร้อยละ 45

ยรูซาเลม, 21 เม.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) องค์การอวกาศแห่งอิสราเอล (ISA) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศว่าฮีเลียส (Helios) บริษัทสตาร์ตอัปของอิสราเอล ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสกัดออกซิเจนจากดินของดวงจันทร์

“เทคโนโลยีใหม่นี้อาจปูทางสู่การตั้งถิ่นฐานถาวรของมนุษย์บนดวงจันทร์ โดยพึ่งพาดินจากดวงจันทร์ในการดำรงชีวิต” องค์การฯ ระบุ โดยองค์การฯ ยังจะส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจในอวกาศห้วงลึก เช่น การส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร

เทคโนโลยีใหม่นี้ถูกคิดค้นขึ้นเนื่องจากการขนส่งออกซิเจนจากโลกไปยังดวงจันทร์มีต้นทุนมหาศาล โดยการขนส่งออกซิเจน 1 กิโลกรัมใช้เงินมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.13 ล้านบาท) ขณะมวลดินดวงจันทร์ประกอบด้วยออกซิเจนถึงราวร้อยละ 45

ออกซิเจนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการหายใจของนักบินอวกาศ และโดยเฉพาะกระบวนการเผาไหม้ เพื่อขับเคลื่อนยานอวกาศและจรวดในอวกาศ

เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาโดยฮีเลียสและได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ จะสามารถผลิตออกซิเจนและธาตุโลหะประเภทต่างๆ ด้วยเตาปฏิกรณ์ที่ใช้ทรายจากดวงจันทร์เป็นวัตถุดิบ

กระบวนการสกัดออกซิเจนนี้ใช้วิธีอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) หรือกระบวนการแยกสารเคมีด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน กล่าวคือใช้กระแสไฟฟ้าแยกออกไซด์ (สารประกอบที่เกิดจากธาตุออกซิเจนรวมกับธาตุอื่นๆ) ออกจากดิน

เทคโนโลยีดังกล่าวทำงานด้วยการหลอมเหลวเรโกลิธ (Regolith) หรือผงตะกอนบนดวงจันทร์ ณ อุณหภูมิ 1,600 องศาเซลเซียส ก่อนจะส่งกระแสไฟฟ้าผ่านดินที่ละลายกลายเป็นของเหลวจนก่อให้เกิดฟองออกซิเจน

นอกเหนือจากออกซิเจนแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถสกัดธาตุอื่นๆ ที่ผสมอยู่ในดินของดวงจันทร์ เช่น เหล็ก ซิลิกอน และอลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ได้อีกด้วย

องค์การฯ คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะถูกเริ่มนำไปใช้ในสองภารกิจอวกาศภายในอีก 3 ปีข้างหน้า


ที่มา : Xinhua