ประเด็นน่าสนใจ
- หลายประเทศทั่วโลกเผชิญเหตุกราดยิงและความรุนแรงจากอาวุธปืน พร้อมออกมาตรการรับมือที่แตกต่างกันไป
- สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เผชิญเหตุกราดยิงบ่อยครั้ง
- อังกฤษ เป็นประเทศที่มีกฎหมายครอบครองอาวุธปืนเข้มงวดที่สุดในโลก
นอกจากสหรัฐฯ ที่เผชิญเหตุกราดยิงบ่อยครั้ง ยังมีหลายประเทศที่ประสบกับเหตุการณ์รุนแรงจากอาวุธปืน โดย CNN รายงานว่า แต่ละประเทศต่างก็ดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อรับมือเหตุที่เกิดขึ้น
ที่นิวซีแลนด์ รัฐสภาลงคะแนนเสียงสั่งห้ามครอบครองอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติแบบทหาร ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังเกิดเหตุกราดยิงในเมืองไครสต์เชิร์ช ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 50 ราย และมีโครงการรับซื้อปืนคืนโดยจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ครอบครอง
ส่วนที่ออสเตรเลีย เคยเหตุกราดยิงขึ้นที่จุดท่องเที่ยวยอดนิยมในรัฐแทสมาเนีย เมื่อปี 2539 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 ราย โดยหลังจากนั้นเพียง 12 วัน นายจอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ประกาศการปฏิรูปกฎหมายควบคุมอาวุธปืนครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงห้ามครอบครองปืนไรเฟิลลำกล้องยาวและปืนลูกซอง, เข้มงวดเรื่องการออกใบอนุญาตครอบครองปืน และจัดตั้งโครงการรับซื้อปืนคืน
สำหรับอังกฤษ เป็นประเทศที่มีกฎหมายครอบครองอาวุธปืนเข้มงวดที่สุดในโลก โดยหลังเกิดเหตุกราดยิงเมื่อปี 2530 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย อังกฤษออกคำสั่งห้ามครอบครองอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนลูกซองแบบปั๊ม อีก 9 ปีต่อมา อังกฤษออกกฎหมายห้ามครอบครองปืนพกทุกประเภท หลังเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียน ซึ่งมีเด็กเสียชีวิต 16 ราย
ด้านฟินแลนด์ หลังเกิดเหตุกราดยิง 2 ครั้ง ในปี 2550 และปี 2551 รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนใหม่ ซึ่งหากใครต้องการใบอนุญาตครอบครองปืนพก ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นสมาชิกชมรมปืนเป็นเวลา 1 ปี และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์และตำรวจ
ขณะที่เยอรมนี หลังเหตุกราดยิงที่เมืองวินเนนเด็น เมื่อปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 15 ราย รัฐบาลรับมือด้วยการให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย 5 ล้าน 5 แสนคน ต้องจดทะเบียนปืน