Telehealth เข้าถึงการรักษาพยาบาลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจาก กสทช.
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประสบปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนักเพราะมีจำนวนคนไข้ในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และสำหรับประชาชนชนบทนั้นเมื่อเจ็บป่วยหรือไม่สบาย การเดินทางไปโรงพยาบาล นับเป็นปัญหา เพราะการเดินทางนั้นไม่ได้สะดวกสบายอีกทั้งยังเกิดภาระทั้งค่าใช้จ่าย เสียเวลาเนื่องจากการเดินทางที่ยากลำบากและห่างไกล รวมไปถึงหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานเกินกำลังเพราะคนไข้ที่ล้นมือ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลเหล่านั้นขาดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทันท่วงที โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจึงเป็นโรงพยาบาลที่ช่วยแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคบางโรคจำเป็นต้องส่งตัวเข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมกว่า ซึ่งวนไปสู่ปัญหาเดิมที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
ภายใต้โครงการ ประยุกต์ใช้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (Telehealth) โดยความร่วมมือของ สำนักงานกสทช. กับ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ด้วยการนำอุปกรณ์ตรวจวัด มาเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ณ จุดให้บริการ เช่น เครื่องวัดความดันตา เครื่องตรวจต้อ ข้อมูลจะถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตเข้าระบบ Cloud และส่งไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทางแพทย์จะทำการวิเคราะห์อาการ และให้คำปรึกษาผ่านระบบ Teleconference หากพบว่ามีความผิดปกติร้ายแรง แพทย์ก็จะสามารถนำผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคฉุกเฉินออกจากโรคไม่ฉุกเฉิน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กระดับตำบล สามารถให้บริการทางการแพทย์ได้ใกล้เคียงโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีจังหวัดนำร่องบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา
ระยะแรก สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สาธารณสุขดำเนินการนำร่องใน 4 โรคหลักผ่านบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในโครงการฯ ได้แก่ โรคตา โรคผิวหนัง โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงตลอดระยะเวลาสัญญา 5 ปี ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท และลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เพิ่มเวลาการใช้ชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน