การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ของจีน เปิดเผยว่าทารกเกิดจากแม่ที่ฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสฯ (SARS-CoV-2)
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา สังกัดคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ ทำการคัดเลือกหญิงตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลของรัฐที่ติดเชื้อไวรัสฯ ก่อโรคโควิด-19 ระหว่างเดือนมีนาคม 2020 จนถึงเดือนมกราคม 2021 และวิเคราะห์ข้อมูลจากหญิง 20 คน ที่คลอดลูกภายในวันที่ 31 ม.ค. 2021
ผลการศึกษาพบว่าทารกแรกเกิด 12 ใน 13 คน ซึ่งเกิดจากแม่ที่ฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 มีผลทดสอบแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ของเชื้อไวรัสฯ เป็นบวก ซึ่งยืนยันว่ามีการถ่ายโอนแอนติบอดีเชื้อไวรัสฯ จากแม่สู่ลูก
การศึกษายังพบความสัมพันธ์แบบตรงข้ามระหว่างความเข้มข้นของแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจีในสายสะดือและของเหลวสกัดจากเลือดที่จับตัวเป็นลิ่มของแม่ กับระยะเวลาการติดเชื้อกระทั่งคลอด ซึ่งหมายความว่ายิ่งระยะการติดเชื้อกระทั่งคลอดกินเวลานาน ความเข้มข้นของแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจีจะยิ่งลดลง และมีความสัมพันธ์แบบตรงข้ามอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอัตราส่วนการถ่ายโอนแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจีที่ได้รับกับปริมาณเชื้อไวรัสฯ ด้วย
ลีโอนา พาน นักวิจัยของการศึกษาและศาสตราจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามถึงแนวโน้มผลกระทบจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนต่อการถ่ายโอนแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ของเชื้อไวรัสฯ จากแม่สู่ลูก
“มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างข้อมูลทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ตลอดจนกำหนดเทคโนโลยีวัคซีนและระยะเวลาการฉีดวัคซีน ซึ่งจะสามารถมอบประโยชน์สูงสุดแก่สตรีมีครรภ์และทารก” พานกล่าวเสริม
อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติที่มีชื่อว่าอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (Ultrasound in Obstetrics and Gynecology)
…
ที่มา – ซินหัว