ประเด็นน่าสนใจ
- กระแสการใช้กัญชาเพื่อนำมารักษาโรคเริ่มเป็นที่แพร่หลายในไทยมากขึ้น
- ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดระบุว่าการใช้กัญชาจะมีประโยชน์สูงสุด ปลอดภัยมากที่สุด จะต้องสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์เท่านั้น
- ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการบาดเจ็บจากการสัมผัสผลิตภัณฑ์กัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยมีจำนวนผู้บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยาฯ ทั้งหมด 302 ราย
ในช่วงที่ผ่านมา การใช้กัญชาเพื่อนำมารักษาโรคต่าง ๆ ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้น โดยมีการเริ่มศึกษาสารในกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากมีสารหลายชนิดในกัญชา สารที่มีการศึกษาและมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอในการใช้ทางการแพทย์คือสาร THC(tetrahydrocannabinol) และสาร CBD (Cannabidiol)สำหรับสารอื่นยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม ประเทศไทยได้ประกาศกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนมกราคม
โดยกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมองค์ความรู้ ความเห็นต่างๆและแนวทางในการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เป็นประโยชน์และปลอดภัยกับผู้ป่วย โดยจัดพิมพ์แนวทางการใช้และประกาศประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันทั่วไป ข้อบ่งชี้ที่สามารถใช้กัญชาในการรักษามี 4 อาการได้แก่ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด , โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ,ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) และภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)
ทั้งนี้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีระบุว่า การใช้กัญชามีประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยมากที่สุด จะต้องสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์เท่านั้น และไม่ให้ใช้เป็นยาเริ่มต้น
สำหรับประโยชน์ของกัญชาในการรักษาโรคอื่นๆนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและศึกษาเพิ่มเติม ขณะนี้ยังมีข้อมูลมากไม่เพียงพอในการสนับสนุนให้ใช้ในมนุษย์เชื่อว่าหากมีการศึกษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม แม้จะใช้เวลามากขึ้นบ้าง เราน่าจะสามารถใช้กัญชา และสารต่างๆในกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างดีและยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดียังเผยถึงใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ว่าแพทย์จะต้องทำความเข้าใจเรื่องโรคและแนวทางการรักษากับผู้ป่วย รวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้ หากตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วจึงทำการนำแนวทางการใช้ที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยและญาติก่อนสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีที่ได้ให้คำปรึกษากรณีผู้ป่วยหรือบาดเจ็บจากพิษต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมงพบว่าตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2561 จนถึง พฤษภาคม 2562 มีจำนวนผู้บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยาฯ ทั้งหมด 302ราย โดยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บป่วยจากการสัมผัสผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์เช่น ช่วยการนอนหลับจำนวน 45 รายทดลองใช้โดยไม่ได้จะรักษาหรือบรรเทาอาการใดจำนวน 32ราย ลดอาการปวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาการปวดประสาทจำนวน 28ราย รักษาโรคมะเร็งจำนวน 20 ราย ป้องกันโรคมะเร็ง 12 รายรักษาเบาหวาน 12 รายบำรุงร่างกาย 12 ราย รักษาความดันโลหิตสูง10ราย และคลายเครียด 6 ราย
โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา 240 รายนั้นและเกิดปัญหานั้น เป็นการใช้ครั้งแรก 138 ราย หยดมากเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ 17 ราย จงใจเพิ่มขนาดเอง 14 ราย ใช้ผลิตภัณฑ์เดิมปริมาณเท่าเดิมกับที่เคยใช้แล้วไม่มีอาการผิดปกติมาก่อน 13 ราย และเพิ่งเปลี่ยนขวดใหม่ 5 ราย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการบาดเจ็บจากการสัมผัสผลิตภัณฑ์กัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ที่ไม่ตรงข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาสัมผัสเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาจากเพื่อน ญาติ และซื้อ
จากอินเตอร์เน็ต
โดยศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีสรุปทิ้งท้ายเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยนั้น ควรใช้ด้วยความเข้าใจ ถูกข้อบ่งใช้ และมีการดูแลแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยและญาติควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคและยาที่ใช้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้จะต้องมีมาตรฐานมีข้อมูลการตรวจสอบความปลอดภัยและปริมาณเนื้อสารที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและลดการบาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่เหมาะสม
ขอบคุณที่มาจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล