ประเด็นน่าสนใจ
- กรุงเทพมหานครได้จัดวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) สำหรับใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้ว
- ในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และ แหล่งชุมชุนชน
- กทม. จัดเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามขั้นตอนการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม หรือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชต่อไป
วันนี้ ( 17 เม.ย. 64) บริเวณพื้นที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานครได้จัดวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) สำหรับใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน
โดยทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า ” หน้ากากอนามัย ” แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ในจุดที่ กทม. กำหนด ในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และแหล่งชุมชุนชนที่ กทม.นำถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไปตั้งวางไว้ เพื่อให้รถขยะของ กทม. จัดเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามขั้นตอนการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม หรือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชต่อไป
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงการจัดการขยะหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า กทม.มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63–12 เม.ย.64 รวมทั้งสิ้น 1,366.29 ตัน หรือเฉลี่ย 11.48 ตัน/วัน ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย. ตั้งแต่วันที่ 1-12 เม.ย.64 ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 12.92 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.44 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 12.5