ไฟซีนอน ไฟตัดหมอก ไฟรถยนต์

ปภ. ชี้การปรับแต่งไฟรถยนต์ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การปรับแต่งรถให้มีความสวยงาม โดยเฉพาะไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณ ทั้งการใช้หลอดไฟที่มีความสว่างมากกว่าปกติ และการดัดแปลงโคมไฟครอบสัญญาณไฟ อีกทั้งการเปิดใช้ไฟสัญญาณไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)…

Home / NEWS / ปภ. ชี้การปรับแต่งไฟรถยนต์ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ประเด็นน่าสนใจ

  • กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรรู้เกี่ยวกับไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณของรถยนต์
  • หากเลือกใช้ไฟซีนอน ควรเลือกใช้ไฟซีนอนตามมาตรฐาน ปรับแสงไฟหน้ารถ ให้เหมาะสม ส่วนไฟตัดหมอกควรเลือกใช้และติดตั้งไฟตัดหมอกที่ได้มาตรฐาน และเปิดใช้งานเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่ทัศนวิสัยไม่ดี
  • หากใช้ของที่ไม่ได้รับมาตรฐาน หรือ ใช้งานผิดประเภท อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การปรับแต่งรถให้มีความสวยงาม โดยเฉพาะไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณ ทั้งการใช้หลอดไฟที่มีความสว่างมากกว่าปกติ และการดัดแปลงโคมไฟครอบสัญญาณไฟ อีกทั้งการเปิดใช้ไฟสัญญาณไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้เกี่ยวกับไฟส่องสว่างและสัญญาณไฟ ดังนี้

ไฟซีนอน เป็นไฟที่มีความสว่างมากกว่าปกติ ลำแสงส่องสว่างได้ไกลในลักษณะกระจาย หากติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน แสงไฟจะสะท้อนเข้าตาผู้ที่ขับรถสวนทางมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นควรเลือกใช้ไฟซีนอนที่ได้มาตรฐาน และปรับไฟหน้ารถให้เหมาะสม

โดยทิศทางของแสงไฟต้องไม่ส่องสูงหรือกระจายออกด้านข้าง ต้องปรับตั้งให้ส่องสว่างในระดับเดียวกันทั้งสองข้างไฟตัดหมอก ควรเลือกใช้และติดตั้งไฟตัดหมอกที่ได้มาตรฐาน หลอดไฟต้องเป็นแสงสีขาวหรือแสงสีเหลือง กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ ติดตั้งให้ลำแสงพุ่งตรงไปด้านหน้าในระดับเดียวกันทั้งสองข้าง และเปิดใช้งานไฟตัดหมอกเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี และปิดไฟตัดหมอกเมื่อมีรถขับสวนทางมา เพราะจะทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัวก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟหน้า – ไฟท้าย เป็นไฟที่ให้แสงสว่างหลัก

ซึ่งมีความสำคัญต่อระยะการมองเห็น และการควบคุมรถ รวมไปถึงช่วยให้ผู้ขับรถคันหลังมองเห็นรถเรา ได้ในระยะไกล ดังนั้นไม่ควรทำการรมดำโคมไฟหน้า – ไฟท้าย เพราะทำให้แสงไฟส่องสว่างลดลง หากทัศนวิสัยไม่ดี อาจส่งผลให้ผู้ขับรถคันอื่นมองไม่เห็นรถเราจากระยะไกล รวมถึงช่วงกลางวันอาจมองไม่เห็นไฟเบรก ช่วงกลางคืนอาจมองไม่เห็นไฟท้าย

และไม่ควรเปลี่ยนสีสัญญาณไฟนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เพราะทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน และผู้ร่วมใช้เส้นทางมองไม่เห็นสัญญาณไฟ รวมถึงแสงไฟอาจจะส่องเข้าตาผู้ขับรถคันอื่น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย

ท้งนี้ควรใช้หลอดไฟตามที่กฎหมายกำหนด ไฟหน้าต้องเป็นแสงสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน และส่องสว่างให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ไฟเลี้ยวด้านหน้ารถต้องเป็นไฟกระพริบสีเหลืองอำพัน ส่วนด้านหลังรถต้องเป็นไฟกระพริบ สีเหลืองหรือสีแดง ไฟเบรกต้องเป็นแสงสีแดง แสงไฟส่องสว่างสม่ำเสมอในขณะที่เหยียบเบรกเท่านั้น กรณีอยู่ร่วมกับโคมไฟท้าย ต้องมีความสว่างมากกว่าไฟท้าย ไฟส่องป้ายทะเบียนต้องเป็นแสงสีขาว และส่องสว่างให้มองเห็นป้ายทะเบียนได้ชัดเจนในระยะไม่ต่ำกว่า 20 เมตร

อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณ ให้เหมาะสมและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการใช้โคมครอบสัญญาณไฟที่ถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง