ชาวนาบ้านโนนคำ จ.อุดรธานี ประสบภัยแล้งหนัก หันใช้ ‘ต้นคล้า’ สานกระติบข้าวเหนียว สร้างรายได้เดือนละกว่า 6 พันบาท
นางเมือง กาหวาย อายุ 73 ปี ที่อยู่ 91 ม.17 ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ต้นคล้ามีลำต้นเป็นปล้องยาวเนื้ออ่อน ทำให้มีความยืดหยุ่นกว่าต้นไผ่ เมื่อได้รับความชื้นไม่เป็นเชื้อรา และเมื่อนำมาใช้เก็บข้าว ข้าวไม่เกาะติดกับกระติบ เก็บความร้อนได้นาน และใช้งานได้นานกว่ากระติบข้าวเหนียวจากต้นไผ่ที่นิยมทำกันอยู่ โดยชาวบ้านโนนคำ นิยมนำต้นคล้ามาสานเป็นกระติบข้าวใช้ในครัวเรือน และทำขายเป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้ง
ส่วนต้นคล้าก็สามารถหาได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา หรือจะปลูกขึ้นเองก็ได้ ต้นคล้าที่นำมาทำกระติบข้าวต้องเลือกเอาต้นที่มีอายุ ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เพราะขนาดลำต้นจะมีความยาวไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เหมาะแก่การนำมาทำเป็นเส้นตอกใช้จักสาน โดยหลังตัดต้นคล้ามาแล้วให้ตากแดดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วขูดเอาไส้ในออกให้เหลือแต่เปลือกนอก เพื่อนำมาเป็นเส้นตอกใช้จักสาน ระหว่างนำเส้นตอกมาสานก็จุ่มน้ำเป็นระยะๆ จะทำให้สานได้ง่าย
แต่ถ้าต้องการเสริมความแข็งแรงให้กับกระติบข้าวเข้าไปอีก ก็นำเส้นตอกไม้ไผ่เสริมบริเวณฐานที่ทำจากก้านตาล แล้วเย็บด้วยเชือกให้ติดกับก้านตาล ทำให้แข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ปัจจุบันกระติบข้าวเหนียวจากต้นคล้ามีราคาตั้งแต่ 100-250 บาท และทุกวันนี้จะมีรถของพ่อค้าคนกลางขับเข้ามารับซื้อจากชาวบ้านไปจำหน่ายต่อเดือนละ 2 ครั้ง สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนไม่น้อยกว่าหลังคาเรือนละ 3,000-6,000บาทต่อเดือน เป็นรายได้เสริมช่วงหน้าแล้ง หลังไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลได้