โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า

ผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า

นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานข้อมูลและสถานการณ์สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน ที่ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน อาทิเช่น การตรวจพบเครื่องสำอางปลอมเป็นจำนวนมากตามท้องตลาด รวมถึงการตรวจพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ สสว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)…

Home / NEWS / ผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า

ประเด็นน่าสนใจ

  • ผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ตบเท้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า อย่างคับคั่ง
  • เผยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เตรียมส่งต่อการรับรองมาตรฐาน อย.

นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานข้อมูลและสถานการณ์สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน ที่ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน อาทิเช่น การตรวจพบเครื่องสำอางปลอมเป็นจำนวนมากตามท้องตลาด

รวมถึงการตรวจพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ สสว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (เซ็นทรัลแล็บไทย) จัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า ปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน อย. ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่ผลิตเป็นที่ยอมรับ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้าของผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมจัดอบรมพบว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องสำอางให้ความสนใจเข้ารับการอบรมด้านมาตรฐานสินค้า เกินกว่าร้อยละ 80 จากผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้นกว่า 1,000 ราย แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัว และความใส่ใจที่จะนำความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามที่ อย.กำหนด

นอกจากนี้ สสว.ยังสนับสนุนคูปองตรวจวิเคราะห์ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำสินค้าเข้ารับการตรวจหาสารปนเปื้อน ในห้องปฏิบัติการของ เซ็นทรัลแล็บไทย โดยผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าของผู้ประกอบการอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และพร้อมที่จะผลักดันต่อยอดให้ได้มาตรฐาน อย.ต่อไป

ทั้งนี้กิจกรรมสุดท้าย เป็นกิจกรรมให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ถือเป็นด่านแรกของผู้ประกอบการที่จะขอยื่นรับรองมาตรฐานจาก อย. ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการชี้แนะ.ในการปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP อีกทั้งยังพบว่าจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ราย มีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 10 ราย มีแนวโน้มผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จาก อย. ภายในปีนี้

“สสว. จะได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อาทิ อุปสรรคปัญหา ความต้องการ และคำแนะนำของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า ปีงบประมาณ 2562 ในทุกกิจกรรม เพื่อนำมาพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจและกระบวนการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และอาหาร ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน พร้อมกับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ดำเนินการจดแจ้งมาตรฐาน อย. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการจำหน่ายสินค้าในตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ทางด้านพันโท นราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าในครั้งนี้ เซ็นทรัลแล็บไทย มีส่วนร่วมในการรับตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน หรือตรวจสารพิษตกค้าง (Toxic) หรือตรวจผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหมดของกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นๆ

โดยห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล จากโครงการดังกล่าวมีผู้เข้ารับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์จำนวน 1,000 ราย ทั้งสินค้าในกลุ่มอาหาร และ เครื่องสำอาง โดยเซ็นทรัลแล็บไทย ได้ออกใบรายงานผลตรวจวิเคราะห์ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจตามมาตรฐานทุกราย เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการนำผลการตรวจครั้งนี้ไปใช้พัฒนา สินค้า และ ผลิตภัณฑ์ ของตนเองต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ยังให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ เซ็นทรัลแล็บไทย ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐภาคเอกชน การบริการที่รวดเร็ว เช่น เพิ่มจัดรับ-ส่งตัว ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับไปรษณีย์ไทยในการขนส่ง และการท่าอากาศยานฯ (AOT) เพื่อบริการที่ครอบคลุม ส่งเสริมศักยภาพสินค้าไทย ให้ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล