ประเด็นน่าสนใจ
- คดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่ หาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นเมื่อปี 2557
- ล่าสุดศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ประหารชีวิตสถานเดียว 2 ผู้ต้องหาสัญชาติเมียนมา
- ศาลพิเคราะห์แล้วว่า คดีนี้ปรากฏพยานหลักฐาน ผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ผลการตรวจดีเอ็นเอ ตรงกับจำเลย
ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆาตกรรม น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอริดจ์ อายุ 23 ปี และนายเดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 ที่บริเวณหาดทรายรี หมู่ 1 ต.เกาะเต่า อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557
โดยคดีนี้มีผู้ต้องหา 2 รายคือ นายซอลิน หรือ โซเรน สัญชาติเมียนมา จำเลยที่ 1 และ นายเวพิว หรือ วิน สัญชาติเมียนมา จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง และถูกเบิกตัวไปฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรีในวันนี้
โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจัดล่ามเเปลเป็นภาษาเมียนมาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากชั้น 6 อาคารศาลอาญา ให้จำเลยที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
สำหรับคดีนี้ ศาลจังหวัดเกาะสมุย อ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 2 มีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2558 จำเลยได้ขอยื่นอุทธรณ์สู้คดี
จากนั้นวันที่ 1 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดเกาะสมุย อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หลังจำเลยได้ขอยื่นอุทธรณ์ โดยคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง
ซึ่งล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยให้ประหารชีวิตสถานเดียว นายซอลิน และนายเวพิว 2 ผู้ต้องหาสัญชาติเมียนมา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
คดีนี้มีพยานหลักฐาน รวมทั้งผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ กรรตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ตรงกับจำเลย ขณะที่คดีเกี่ยวกับการกระทำต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระทบจ่อภาพลักษณ์ประเทศ
ซึ่งมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเฉพาะกิจขึ้นมาโดยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ควบคุมใกล้ชิด ในการตรวจเก็บสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานเพื่อจะติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของประเทศคืนมา
มีการตรวจเก็บดีเอ็นเอทั้งคนไทยและต่างหลายชาติที่อาจจะเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน ใช้น้ำยาตรวจที่มีคุณภาพ เครื่องตรวจอัตโนมัติมีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาดูประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ทีละประเด็น โดยตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปทีละคนทีละประเด็น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจำเลย
ซึ่งครั้งแรกจำเลยก็เป็น 1 ในนั้นที่ต้องสงสัย แต่เมื่อยังไม่ชัดเจนจึงยังไม่ถูกดำเนินคดี กระทั่งตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มจำเลย ตรงกับการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เพราะในการสอบสวนต้องใช้เวลา , บุคคลากรจำนวนมาก
รวมทั้งงบประมาณ หากจะสร้างพยานหลักฐานคงไม่ต้องให้สิ้นเปลืองทั้งบุคคลากรและงบประมาณ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น