ประเด็นน่าสนใจ
- ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้องมีสัญชาติไทย อายุ 59 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
- สำหรับปี 2562 นี้ การลงทะเบียนช่วงต้นปี 2562 ผู้สูงอายุต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2503
- กทม. ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่ สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดยื่นเรื่องไปยัง สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล
วันที่ 1 ก.ค. 2562 แฟนเพจ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2562 สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพคนชรา คือ เงินช่วยเหลือที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และในทุกๆ ปี จะมีการเปิดให้ผู้สูงอายุรายใหม่ๆ ที่มีสิทธิ เข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเงินในส่วนนี้
โดยการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนใหม่ทุกปี ลงเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิไปตลอด เว้นแต่กรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ หรืออาจมีปัญหารายชื่อตกหล่น ถึงค่อยไปทำการยืนยันสิทธิ แก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้สมบูรณ์
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการลงทะเบียนผู้สูงอายุ 2562 มีดังนี้
1. ใครมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- สัญชาติไทย
- อายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยการลงทะเบียนช่วงต้นปี 2562 ต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2503 (ผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้นๆ)
- ต้องไม่เคยได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
2. ช่วงเวลาลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุ 2562
- ช่วงเดือนมกราคม ถึง กันยายน 2562 (รับเงินงบประมาณปี 2563) สำหรับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2503
- ช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2562 (รับเงินงบประมาณปี 2564) สำหรับผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน 2503 – 1 ตุลาคม 2503
3. ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2562 ได้ที่ไหน
- กรุงเทพฯ สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นยื่นแทน ได้ที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- ต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
4. หลักฐานในการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านตัวจริง
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารตัวจริงพร้อมสำเนา (สำหรับผู้ขอรับเงินผ่านธนาคาร)
***แต่หากผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
-หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
-สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
5. ผู้สูงอายุแต่ละคนจะได้รับเงินเท่าไร
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 60 -69 ปี จะได้รับ 600 บาท/เดือน
อายุ 70 -79 ปี จะได้รับ 700 บาท/เดือน
อายุ 80 -89 ปี จะได้รับ 800 บาท/เดือน
อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท/เดือน
6. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รับเงินได้ทางไหนบ้าง
ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเบี้ยยังชีพผ่านทางช่องทางไหนได้ตามนี้
- รับเป็นเงินสดด้วยตนเอง
- ให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจรับแทน
- โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้สูงอายุ
- โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุท่านใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และมีความประสงค์จะรับสวัสดิการเบี้ยยังชีพ ก็อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนกันให้เรียบร้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์