ประเด็นน่าสนใจ
- เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ ปปส. ตรวจเยี่ยมระบบการเพาะปลูก และระบบความปลอดภัยกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติความปลอดภัยที่ดี GSP (Good Security Practice)อย่างเคร่งครัด พร้อมเป็นต้นแบบการดำเนินการที่ดีแก่หน่วยงานอื่น
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำโดย ภญ.กรพินธุ์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) นำโดยนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษาสำนักงานป.ป.ส. ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามโครงการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม โดยมีดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า วันนี้คณะเจ้าหน้าที่จาก อย.และปปส. ได้เดินทางเข้ามาตรวจเยี่ยมเรื่องการจัดระบบการเพาะปลูกและระบบความปลอดภัยในโครงการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ตามที่องค์การฯ ได้ขออนุญาตไว้ ซึ่งการมาของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ
รวมทั้งมีการตรวจสอบสถานที่ว่าองค์การฯ ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สำหรับมาตรการการกำกับดูแลการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์นั้นองค์การฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโดยมีหน้าที่ตรวจรับและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ เป็นตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติความปลอดภัยที่ดี GSP (Good Security Practice)
ตลอดทั้งกระบวนการอย่างเคร่งครัด อาทิ การจัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงสถานะการเพาะปลูกและผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ การเก็บรักษากุญแจสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์และผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ การจัดทำรายงานประจำเดือนและประจำปี ส่งให้อย. การการเก็บรักษา การจำหน่าย และการทำลายหรือเพื่อการอื่นใดในโครงการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม หรือผู้แทนก่อน แล้วแต่กรณี
ด้านความปลอดภัยได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรับผิดชอบตรวจตราพื้นที่รอบอาคารตลอด 24 ชั่วโมง และดูแลการเข้า – ออก ของเจ้าหน้าที่บริหาร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และบุคคลภายนอก บุคคภายนอกที่ต้องการเข้าพื้นที่เพาะปลูกกัญชา ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน กรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องปฏิบัติตามแผนกรณีฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามโครงการนั้น ขณะนี้องค์การฯ ได้มีการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาที่มีเติบโตและมีสารสำคัญสมบูรณ์เต็มที่ไปแล้ว 2 รอบ และมีแผนจะเก็บเกี่ยวอีกในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ และได้นำกัญชาที่เก็บมาแล้วไปผึ่งให้แห้งและดำเนินการตามมาตรฐานขององค์การฯ เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น
คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะได้ผลผลิต ประมาณ 2,500 ขวด กระจายสู่ระบบของโรงพยาบาล ผ่านกรมการแพทย์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโครงการวิจัยต่างๆ รวมถึงใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาต่อไป และจากนี้ก็จะดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในระดับกึ่งอุตสาหกรรม
โดยจะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบ Indoor และแบบ Greenhouse พร้อมดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสม และสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2563
ภญ.กรพินธุ์ กล่าวว่า จากการเข้ามาตรวจเยี่ยมในวันนี้ก็เพื่อที่จะเข้ามาตรวจสอบสถานที่ที่ขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามที่องค์การฯ ได้มีการขออนุญาตไว้หรือไม่ ซึ่งพบว่าองค์การฯ มีความพร้อม และดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เช่น มีระบบกล้องวงจรปิด ตรวจสอบการเข้าออก 24 ชั่วโมง มีการจำกัดบุคลคลเข้าสถานที่ มีระบบการสแกนนิ้วมือด้วยเครื่อง finger scan โดยตั้งรหัสผ่านให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีการติดป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้า-ออก ก่อนได้รับอนุญาต มีการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก เพื่อป้องกันการลักลอบนำกัญชาออกนอกระบบ
รวมถึงได้มีการจัดทำระบบออนไลน์กล้องวงจรปิดพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา และในกระบวนการปลูกดังกล่าวองค์การฯมีระบบการควบคุมที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งองค์การฯ เป็นต้นแบบของการดำเนินการและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
ด้านนายเพิ่มพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีภารกิจควบคุมไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด และจากการมาตรวจเยี่ยมพื้นที่การปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯในวันนี้พบว่า องค์การฯได้มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยเป็นอย่างดี มีการพัฒนา และมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยนำแนวทางการปลูกมาจากการศึกษาที่ต่างประเทศ รวมถึงยึดหลักวิชาการที่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดมาใช้กับโครงการดังกล่าว
ซึ่งเป็นไปตามที่ปปส.ได้กำหนดไว้ และองค์การฯเป็นต้นแบบที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งองค์การฯ เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนทั้งเรื่องการปลูก การวิจัย ตามมาตรฐานเมดิคัลเกรด เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปแนวทางทางเดียวกันและสอดคล้องกัน
และในโอกาสต่อไปทางปปส.จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำทุกอย่างให้เป็นระบบ และร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการที่จะดำเนินการให้ถูกต้องทั้งในเรื่องของการปลูกและการนำไปใช้ต่อไป