ยี่ปั๊ว รายงานพิเศษ สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากกินแบ่งเกินราคา

[รายงานพิเศษ] หวยแพง-สลากกินแบ่งฯ เกินราคา เม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่มาที่ไปของสลากเกินราคาฯ ที่ผู้ซื้ออย่างเราพบเห็นกันอยู่ทุกที่

Home / NEWS / [รายงานพิเศษ] หวยแพง-สลากกินแบ่งฯ เกินราคา เม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ประเด็นน่าสนใจ

  • ปมปัญหาหวยแพง-สลากกินราคาฯ ที่เกิดขึ้นนั้น ยังคงมีอยู่ และเชื่อว่า จะยังคงมีต่อไปอีกนาน
  • การ “ชนหวย” เพื่อทำสลากรวมชุด เป็นส่วนหนึ่งที่พบในชีวิตจริง และส่งผลให้ราคาต้นทุนสลากเพิ่มขึ้นจากราคาปรกติ ซึ่งกำไรในส่วนต่างที่เกิดขึ้นตกอยู่กับ ยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว ผู้ที่มีสลากในมือจำนวนมาก
  • ยิ่งมีสลากในมือมากเท่าไหร่ โอกาสการรวมชุด แบบ 5 ใบ ก็จะมีมากขึ้น เช่นเดียวกับการขายก็จะง่ายขึ้น เพราะเซียนหวยมือหนัก พร้อมจ่าย
  • โดยเฉลี่ยแล้วในสลากทุกประเภทบนแผงอยู่ที่ประมาณ 95 บาทต่อฉบับ ซึ่งเกินราคาไป 15 บ. ต่อฉบับ เมื่อคำนวนแล้วพบว่า ในวงเงินที่เกิดขึ้นในระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • โควต้าสลาก 5 เล่ม หากขายตามราคา 80 บาท เมื่อหักรายจ่ายต่าง ๆ แม่ค้า-พ่อค้า รายย่อยจะเหลือกำไรไม่ถึง 8 พันบาทต่อเดือน
  • การจัดสูตรคละเล่ม เลขไม่ซ้ำกันนั้น ทำให้การทำหวยรวมชุดยากขึ้น แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ ปัจจุบันยี่ปั๊ว-ซาปั๊วรายใหญ่ สามารถทำรวมชุด 10 ใบได้แล้ว และแน่นอน ราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ดูจะเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอกันเป็นเรื่องปรกติ แม้หวยจะไม่ใช่สินค้าจำเป็นของชีวิต แต่เป็นหนึ่งในความสนุกของใครหลาย ๆ ในการลุ้นและหวังในทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเสี่ยงดวง หวังรางวัลใหญ่

ปัญหาสลากกินแบ่งฯ เกินราคาจึงกลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่หลายคนรับรู้ รับทราบว่า สลากฯ ราคา 80 บาท นั่นไม่ใช่สิ่งที่มองหาได้ง่าย ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ หน่วยงานของรัฐ ที่พยายามแก้ไขปัญหา ออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหวังจะควบคุมราคาสลากฯ ไม่ให้เกิดราคา

แต่แล้วดูเหมือนว่า การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นเหมือน “ลิงแก้แห” ที่กลับสร้างปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาในระบบการจำหน่ายสลากฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ

1 |

ระบบจัดสรรการสลากฯ
(โควต้าสลากฯ ทั่วประเทศ)

สำหรับการจัดทำสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวดอยู่ที่ 100 ล้านฉบับ โดยในแต่ละงวดนั้นจะมีการจัดสรรคให้กับตัวแทนจำหน่ายประเภทบุคคลทั่วไป คนพิการ และสมาคมหรือมูลนิธิฯ ต่าง ๆ รวมแล้ว 33 ล้านฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 67 ล้านฉบับนั้น จะจัดสรรให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย ที่ลงทะเบียนไว้ทั่วประเทศ จำนวนเกือบ 1.6 แสนราย

สลากกินแบ่งฯ ที่จัดจำหน่ายออกจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ นั้นจะกำหนดราคาขายต้นทุนไว้ที่ราคาฉบับละ 70.40 บาท ซึ่งหากผู้ขายสลากฯ รายย่อย นำไปขายที่ราคา 80 บาทก็จะได้กำไรอยู่ที่ฉบับละ 9.60 บาท

โดยในจำนวน 67 ล้านฉบับที่จัดสรรให้กับผู้ค้ารายย่อยนั้น จะได้รับสลากฯ หลังจากทำการจองซื้อสลากฯ รายละ 5 เล่ม เล่มละ 100 ฉบับ รวมต่อคนคือ 2,500 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม ในการจำหน่ายสลากฯ ให้กับผู้ค้ารายย่อยนั้นจะเป็นรูปแบบของการ “ขายขาด” ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ค้ารายย่อย จะต้องแบกรับภาระความเสี่ยงจากกรณีที่ขายสลากฯ ไม่หมดเอาเอง

….

2 |

ความต้องการของผู้ซื้อ

สินค้าทุกอย่าง สุดท้ายขายได้หรือไม่ ก็จำเป็นต้องวัดที่ความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งในแต่ละงวดจำนวนความต้องการของสลากฯ ต่าง ๆ จะผันแปรไปตามสถานการณ์ โดยปรกติแล้วในส่วนของงวดต้นเดือน หรืองวดที่จะออกในวันที่ 1 ของทุกเดือนนั้น จำนวนผู้ซื้อจะมีมาก เนื่องจากเป็นช่วงหลังเงินเดือนออก ที่ทำให้หลายคนมีเงินอยู่ในมือ และตัดสินใจเสี่ยงโชค เมื่อเทียบกับงวดกลางเดือนในวันที่ 16 ของทุกเดือน

อาจจะมีบ้างบางเดือนที่ในงวดกลางเดือนนั้น จะมีผู้ซื้อมากขึ้นกว่าปรกติ โดยส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากกระแสเลขเด็ด เลขดังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งล้วนแล้วมีผลต่อยอดขายสลากฯ ของผู้ค้ารายย่อยแทบทั้งสิ้น

บรรยากาศการซื้อ-ขายสลากฯ (แฟ้มภาพ)

โดยในสลากหนึ่งเล่มนั้น จะมีตัวเลขท้ายตั้งแต่ 00 – 99 รวม 100 ฉบับ แต่ในจำนวนนี้ จะมีเลขที่ไม่ได้รับความนิยม เช่น 00 ที่ทุกงวดจะมีเหลือค้างอยู่บนแผงโดยตลอด รองลงมาจะเป็นกลุ่มเลขท้าย 3 ตัวที่มีตัวเลขเรียงกันเช่น 111, 222, 333 เป็นต้น รวมถึงเลขท้ายที่ออกไปแล้วในงวดก่อนหน้า ก็จะมีเหลือค้างแผงจนกระทั่งโค้งสุดท้ายก่อนที่หวยจะออก

แต่จุดที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อย ไม่ว่าจะเป็นแผงขาย หรือแม่ค้าเร่เดินหรือปั่นจักรยานขายจะขายได้ดี นั่นคือ “หวยชุด” ไม่ว่าจะเป็นชุด 2 ใบ ชุด 5 ใบ กลุ่มนี้จะมีผู้ที่ต้องการซื้อค่อนข้างมาก ในขณะที่เลขดัง ๆ ประจำงวด ตามกระแสต่าง ๆ ที่เหล่าบรรดาเซียนหวยไปสรรหากันมา หรือแม้แต่ที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้ความต้องการสลากเลขดังเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้น

ซื้อใบ สองใบ ถูกก็ถูกไม่กี่บาท ก็เลยอยากจะเสี่ยงซื้อไปเลขชุด 5 ใบ ถูกแล้วรวยไปเลย ทีเดียว 30 ล้าน แบบที่เป็นข่าวบ้าง

แต่ถ้าเลขที่ชอบมีชุด สองใบก็เอานะ เพราะถูกรางวัลมาก็ยังตั้ง 12 ล้าน

เซียนหวยรายหนึ่งกล่าวขณะกำลังเลือกหวยชุดบนแผง

ยิ่งเซียนหวยตัวจริงด้วยแล้ว ก็มักจะสั่งหวยชุด เลขดัง ๆ ไว้กับแม่ค้า-พ่อค้าเจ้าประจำกันอยู่ตลอด ยิ่งเห็นหวยชุดที่มีเลขท้ายดัง ๆ แล้วยิ่งมีความต้องการมากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อมีความต้องการมาก ราคาก็ยิ่งสูงขึ้น บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าสลากฯ ก็จำเป็นจะต้องไปหาซื้อหวยชุด – เลขดัง มาวางแผงขาย เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นกว่า การนั่งรอลุ้นว่า จะขายหมดหรือไม่

3 |

ที่มาของ “หวยชุด”

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หวยชุดไม่ว่าจะเป็นชุด 2 ใบ, 5 ใบ หรือ 10 ใบ จะเป็นสลากฯ ที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากจากเซียนหวย โดยที่มาของหวยชุดเหล่านี้ จะถูกรวบรวมสลากฯ จากเล่มต่าง ๆ มาเข้าชุดกัน

โดยแต่ละงวด สำนักงานสลากฯ จะพิมพ์สลากจำนวน 100 ล้านฉบับ นั่นทำให้มีสลากในแต่ละงวด จะมีเลขที่เหมือนกันทั้ง 6 ตัวอยู่จำนวน 100 ฉบับ ด้วยกัน จึงมีการ “รวบรวม” นำสลากมาเข้าชุดกัน และจำหน่ายในราคาที่สูงกว่า ปรกติ โดยระบุว่า “เป็นค่าดำเนินการ” ในการรวมชุด

ในปัจจุบัน การรวมชุดสลากกินแบ่งฯ ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีการปรับสัดส่วนของสลากฯ ของผู้ค้ารายย่อย ในจำนวน 5 เล่มนั้น จะแบ่งเป็น 2-1-1-1 โดย 2 เล่มแรกจะมีเลขทั้ง 6 หลักเหมือนกัน ส่วนที่เหลืออีก 3 เล่มจะเป็นเลขที่ไม่ซ้ำกับ 2 ชุดแรก และไม่ซ้ำกันในอีก 3 เล่มที่เหลือ ดังนั้นผู้ค้ารายย่อย จึงสามารถรวมหวยชุดได้เป็นชุด 2 ใบ แต่ที่เหลือจะไม่สามารถรวมกันได้

แต่นั่น เป็นในทางทฤษฎี เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ในวันที่มีการรับสลากกินแบ่งฯ ของตัวแทนผู้ค้าสลากฯ จะมีการ “ชนหวย” หรือเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสลากกินแบ่งฯ แต่ละเล่ม ของผู้ค้าแต่ละรายเกิดขึ้น เพื่อจัดทำสลากรวมชุดเป็นชุดใหญ่มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว รายใหญ่ เลือกที่จะ “ซื้อต่อ” สลากกินแบ่งฯ จากผู้ค้ารายย่อย ซึ่งในจุดนี้ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยหลายราย เลือกที่จะ “ขายต่อ” ให้กับยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว เพื่อรวมชุด 3 – 5 – 10 ใบ

สาเหตุที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อย เลือกปล่อยสลากฯ ในโควต้าของตนให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว

  • เซียนหวยส่วนใหญ่ชอบสลากฯ รวมชุด ทำให้สามารถขายได้เยอะ กำไรดี ขายง่าย
  • โควต้าสลากฯ เดิมที่ได้รับ 5 เล่ม ไม่พอขายเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะต้องเผื่อกรณีที่สลากฯ เหลือค้างแผง
  • สามารถทำกำไรได้ก่อน เนื่องจากรับมา 70.40 บาท ในขณะที่ยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว กำหนดราคารับซื้อตั้งแต่ 75 – 90 บาท ต่อใบ (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละงวด)

สลากรวมชุด ยังคงเป็นที่นิยมของคอหวยมือหนัก ที่มักจะเลือกซื้อรวมชุดใหญ่ (แฟ้มภาพ)

ยิ่งในระยะหลังที่มีการจัดการคละสลากฯ ในสูตร 2-1-1-1 แล้ว ทำให้การรวมชุดทำได้ยากขึ้น ทำให้ยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว จำเป็นต้องหาสลากฯ จำนวนมากขึ้น ความต้องการในการซื้อเพื่อรวมชุดจึงเพิ่มขึ้น ราคาสลากฯ ที่ยี่ปั๊วรับซื้อ ก็สูงขึ้น นำไปสู่ราคาปลายทางที่มาวางขายกับผู้ซื้อทั่วไปมีราคาที่ดีดแพงขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

จากการสอบถาม-เก็บข้อมูลพบว่า โดยปรกติแล้วหลังจากที่สลากถูกรวมชุดแล้ว โดยเฉพาะชุด 5 ใบเลขเหมือนกันอยู่อยู่ราว 120-150 ต่อฉบับ ในขณะที่ปัจจุบันยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว สามารถจัดรวมชุดสลาก 10 ใบออกมาส่งต่อในราคาสูงถึงชุดละ 2,500 บาท หรือตกอยู่ที่ใบละ 250 บาท ขึ้นอยู่ทีระดับความดังของเลข, ความต้องการในแต่ละงวด แม้ว่าสลากรวมชุดใหญ่ 10 ใบจะมีออกมาไม่มากเนื่องจากระบบการพิมพ์ของกองสลากฯ แต่ด้วยความยากในการรวมชุด และความต้องการที่เกิดขึ้น จึงมีราคาที่สูงมากขึ้น

จากการคำนวนแบบง่าย ๆ ที่ได้จากการสอบถามพ่อค้า-แม่ค้าสลากรายย่อย ถึงราคาขายเฉลี่ยในการขายแบบใบเดี่ยว – เลขดัง – รวมชุด อยู่ที่ราว 95 บาทต่อฉบับ ซึ่งยอดขายต่องวดจะมีความผันแปรไป แต่โดยรวม ๆ แล้ว ยอดขายสลากในแต่ละงวดจะอยู่ที่ 60% ต่องวด

นั่นหมายความว่า สลากกินแบ่งฯ ที่พิมพ์ออกมา 100 ล้านฉบับนั้น จะถูกจำหน่ายเกินราคาจำนวนราว ๆ 60 ล้านฉบับ เมื่อคูณด้วยราคาส่วนต่าง 15 บาท จะพบว่า มีวงเงินหมุนเวียนที่เกิดขึ้นจากสลากฯ เกินราคางวดละประมาณ 900 ล้านบาท และในหนึ่งปี มีหวยออกมาจำนวน 24 งวด นั่นหมายความว่า มีเงินหมุนเวียนในที่เกิดขึ้นกว่า 21,600 ล้านบาทต่อปี

MThai.com, จากการสอบถามพ่อค้า-แม่ค้าสลาก ทั้งแบบเร่ขาย, ตั้งแผงจำหน่าย

ซึ่งในขณะเดียวกัน สลากกินแบ่งฯ ที่เหลือผู้ค้าก็จะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงดังกล่าว โดdยบางรายอาจจะโชคดี หากสลากฯ ที่เหลือถูกรางวัล แต่ถ้าไม่ถูกรางวัล ก็จะถือเป็นต้นทุนที่ต้องรับไว้เช่นกัน

4 |

ปลายทางผู้ซื้อ

หลังจากที่สลากฯ ถูกขายต่อให้กับยี่ปั๊ว – ซาปั๊วแล้ว บรรดาพ่อค้าแม่ค้าสลากกินแบ่งฯ รายย่อย ก็จะซื้อสลากฯ กลับมาขายอีกครั้ง ซึ่งเมื่อซื้อกลับมาขายก็จะเป็นที่มาของคำว่า “ต้นทุน” มาก็ 90 บาทแล้ว เหมือนกับที่เราเคยได้ยินกัน เมื่อต้นทุนมาแพงบรรดาพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ต้องบวกต้นทุนค่าเดินทาง หรือ ค่าแผง และกำไร เข้าไปในสลากฯ แต่ละใบเพิ่มขึ้น

การขายสลากฯ ที่เป็นระบบขายขาด ทำให้พ่อค้า – แม่ค้าสลากฯ จะต้องรับต้นทุนที่เกิดขึ้น หากสลากฯ ที่รับมาขายไม่หมด โดยหากคำนวนแต่ละงวด หากผู้ค้ารายย่อย รับสลาก 5 เล่ม และขายหมด จะได้กำไร 4800 บาท ต่องวด รวมรายได้เดือนละ 9,600 บาท หากเมื่อหักต้นทุนค่าเดินทาง, ค่าแผง และสลากฯ ที่เหลือค้างแผง จะทำให้ผู้ค้าเหลือเงินเป็นกำไรไม่ถึง 8,000 บาทต่อเดือน

บรรยากาศการซื้อขายสลากกินแบ่งฯ (แฟ้มภาพ)

ดังนั้นเมื่อผู้ค้ารายย่อย ได้รับสลากฯ มาจากกองสลากฯ แล้ว การขายคืนให้ยี่ปั๊ว จึงสามารถทำกำไรขั้นต้นได้แล้ว โดยไม่ต้องเสี่ยงว่าจะขายแล้วเหลือ หรือเหนื่อยกับการขาย ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ที่ลงทะเบียนรับโควต้าสลากฯ จำนวนไม่น้อย ที่เลือกเป็นผู้ที่ลงชื่อ – รับสลากฯ และส่งต่อให้กับยี่ปั๊ว – ซาปั๊ว รับเงินง่าย ๆ ขั้นต้นโดยไม่ต้องไปตระเวนขาย

อีกทั้งข้อกฎหมายใหม่ เมื่อผู้ซื้อพบเห็นการขายสลากฯ เกินราคา ก็สามารถแจ้งจับ-ดำเนินคดีกับผู้ขายสลากฯ เกินราคาได้ ทำให้ผู้ค้ามีความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาอีกเรื่องหนึ่ง ที่เมื่อมีผู้แจ้งความจับกรณีขายสลากเกินฯ ราคาก็จะต้องไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พบว่า ในหลายพื้นที่ “มีการจ่ายต๋ง” ให้กับจนท.ในพื้นที่เพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดี หรือ หาผู้รับผิดแทนเกิดขึ้นซ้ำไปอีก

ผู้ซื้อสลากฯ ปลายทาง จึงต้องเจอกับสลากฯ ขายเกินราคาต่อไป ซึ่งกลายเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา จึงกลายสภาวะลิงแก้แห ที่แก้ปัญหาหนึ่งไปกระทบเกิดเป็นอีกปัญหาหนึ่งต่อไป

5 |

มุมมองของผู้ค้ารายย่อย

การเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งฯ เกินราคา จึงดูเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน และไม่สามารถแก้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเงินที่หมุนอยู่ในระบบที่ได้จากส่วนต่างของการขายต่อระหว่าง ผู้ค้ารายย่อยและยี่ปั๊ว/ซาปั๊วทั้งหลาย ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

บรรดาแม่ค้า-พ่อค้าสลากรายย่อยมองว่า จุดแรกโควต้าสลาก 5 เล่มต่อรายนั้น มีจำนวนที่น้อยเกินไป เพราะหลายคนประกอบอาชีพค้าสลากฯ เป็นหลัก หากจำหน่ายที่ 80 บาทต่อฉบับ เมื่อหักจำนวนเหลือ-ต้นทุนอื่น ๆ แล้ว เหลือรายได้เพียง 7-8 พันบาทต่อเดือน ไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องไปหาซื้อสลากจากยี่ปั๊วมาขายเพิ่ม

นอกจากนี้ พ่อค้า-แม่ค้าสลากรายย่อย ยังมองอีกด้วยว่า ได้รับสลากฯ คละชุดกัน ทำให้รวมชุดได้ยากขึ้น แม่ค้ารายย่อย รวมชุดใหญ่ 3-5 ใบได้ยากขึ้น ในขณะที่ยี่ปั๊วที่มีกำลังซื้อสามารถทุ่มซื้อสลากฯ หรือ จ้างคนมาลงชื่อรับโควต้าสลากแทน เพื่อหาสลากมารวมชุดและขายกลับออกมาแพงได้มากขึ้น โดยใช้ข้ออ้างที่บอกว่า รวมชุดยากขึ้น

พ่อค้า-แม่ค้า รายย่อยจึงมองว่า ท้ายที่สุดไม่ว่าจะจัดสูตรคละสลากมาแบบใด ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วรายใหญ่ ก็สามารถที่จะลงทุน – หาวิธีการรวมชุดได้อยู่ดี

สลากรวมชุด 2 ที่พบเห็นได้บ่อยจากสูตรโควต้าสลากรายย่อยแบบ 2-1-1-1 (แฟ้มภาพ)

6 |

มองหาทางเลือกอื่นแก้ปัญหา

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งฯ เกินราคาดูจะเป็นแนวทางที่หลายครั้งมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ ปัญหาของหวยใต้ดินยังคงสะสมอยู่ต่อไป จากปัญหาของการที่สลากฯ ขายราคาแพง – หายาก โดยเฉพาะเลขท้ายในบางเลขที่มักจะระบุว่า เป็น “เลขดัง”

ดังนั้นในแนวทางของการแก้ปัญหาจึงอาจจะต้องมองที่ความต้องการของผู้ซื้อ ที่บรรดาเซียนหวยจำนวนมาก ต้องการซื้อเพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ นั่นคือรางวัลที่ 1 และเป็นถูกแบบเดียวเป็นชุด 2-3-5 ใบเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งในความต้องการนี้ แนวทางแก้ไขที่ทางทีมงานเอ็มไทยมองเห็นคือ

โดยทางเลือกแรก เป็นการแก้แบบตัดปัญหาคือ จำกัดจำนวนผู้รับรางวัลที่ 1 ว่ามีสิทธิ์รับได้กี่ใบ ซึ่งคาดว่า สุดท้ายก็กลายเป็นการผลักดันให้เซียนหวย หันไปทางช่องทางใหม่ ๆ ได้

ทางเลือกที่สองคือ การเปิดขายสลากแบบ Power Ball ในต่างประเทศ ที่เงินรางวัลจะสามารถสะสมไปได้เรื่อย ๆ หากไม่ถูกรางวัล ที่เราจะเคยได้ยินข่าวการถูกรางวัลแจ็กพอตหลักพันล้าน หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ต้องการรางวัลใหญ่

ในขณะที่รางวัลเลขท้ายต่าง ๆ การปลุกผี “หวยบนดิน” แบบในยุคก่อนดูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดปริมาณความต้องการซื้อสลาก และเป็นการนำเงินในระบบใต้ดิน ขึ้นมาอยู่บนดินอย่างถูกต้อง