ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันไม่พบโรงงานในพื้นที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน
จากกรณี “เพจหมอแล็บแพนด้า” @MTlikesara เผยแพร่ข้อมูลว่า ภาคอุตสาหกรรมโรงงานเป็นแหล่งกำเนิดต้นเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 กว่า 30% นั้น ล่าสุดทางด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ (โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2561) พบว่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52 เกิดจากไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์, ร้อยละ 35 เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง, ร้อยละ 8 เกิดจากฝุ่นละอองทั่วไปและจากการก่อสร้าง, ร้อยละ 4 เกิดจากโรงงานจากปล่องระบาย และร้อยละ 1 เกิดจากบริเวณที่เป็นพื้นดิน
อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้มงวดในการกำกับ ดูแล สถานประกอบการอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงสำรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หากพบความผิดจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป
นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไมครอน PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม คือมาตรการป้องกันโดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาโดยให้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานทั่วประเทศ 7,700 โรงงาน พร้อมสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2562
อีกทั้งยังกำชับให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เร่งรัดขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ (S-Curve) เพื่อลดการเกิดมลภาวะทางอากาศและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ได้อย่างสมดุล และยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลจาก กระทนวงอุตสาหกรรม