คลองสุเอซ เรือขนส่งสินค้าติดคลอง เรือยักษ์

อียิปต์เผย ‘เรือยักษ์’ ขวางคลองสุเอซ กลับมาลอยได้แล้ว

องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ เผยว่าเรือขนส่งขนาดใหญ่กลับมาลอยได้อีกครั้งแล้ว หลังจากติดค้างด้านตื้นของคลองสุเอซ มานานเกือบหนึ่งสัปดาห์

Home / NEWS / อียิปต์เผย ‘เรือยักษ์’ ขวางคลองสุเอซ กลับมาลอยได้แล้ว

ประเด็นน่าสนใจ

  • องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ เผยว่าเรือขนส่งขนาดใหญ่กลับมาลอยได้อีกครั้งแล้ว
  • หลังจากติดค้างด้านตื้นของคลองสุเอซ มานานเกือบหนึ่งสัปดาห์
  • เอเวอร์ กิฟเวน เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 224,000 ตัน แล่นติดฝั่งและปิดกั้นทางน้ำเมื่อวันอังคาร (23 มี.ค.)

ไคโร, 29 มี.ค. (ซินหัว) — วันจันทร์ (29 มี.ค.) องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ เปิดเผยว่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) กลับมาลอยได้อีกครั้งแล้ว หลังจากติดค้างด้านตื้นของคลองสุเอซ (Suez Canal) มานานเกือบหนึ่งสัปดาห์

แถลงการณ์จากโอซามา เรบี ประธานองค์การฯ ระบุว่าทิศทางของเรือเปลี่ยนไปร้อยละ 80 โดยความพยายามกอบกู้เรือจะดำเนินต่อไปจนกว่าทิศทางของเรือจะเปลี่ยนไปร้อยละ 100

ประธานองค์การฯ ส่งสาส์นแสดงความมั่นใจไปยังชุมชนทางทะเลระหว่างประเทศว่า “การเดินเรือในคลองสุเอซจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อเรือกลับมาลอยได้เต็มที่ในอีกไม่ช้า”

เอเวอร์ กิฟเวน เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 224,000 ตัน แล่นติดฝั่งและปิดกั้นทางน้ำสายสำคัญตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (23 มี.ค.) หลังจากสูญเสียความสามารถบังคับทิศทางเนื่องจากกระแสลมแรงและพายุฝุ่น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการอียิปต์ต้องระงับการเดินเรือในคลองขุดแห่งนี้ชั่วคราว โดยมีเรืออย่างน้อย 321 ลำรอเดินทางผ่าน ขณะที่เจ้าของเรือเอเวอร์ กิฟเวน ว่าจ้างโบสกาลิส (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญการกู้เรือ พร้อมสมิท ซัลเวจ (Smit Salvage) ทีมรับมือเหตุฉุกเฉิน มาช่วยเหลือองค์การฯ ปฏิบัติภารกิจกู้เรือ

เมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) องค์การฯ ให้ข้อมูลว่ามีเรือลากจูง 14 ลำ กำลังพยายามทำให้เรือเอเวอร์ กิฟเวน หลุดออกจากฝั่ง

ทั้งนี้ คลองสุเอซเป็นทางน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และกลายเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลสายสำคัญของโลก เนื่องจากเอื้อให้เรือเดินทางระหว่างยุโรปกับเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางทางทะเลระหว่างยุโรปกับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร โดยร้อยละ 12 ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำสายนี้


ที่มา : Xinhua