ประเด็นน่าสนใจ
- พายุทรายลูกใหม่ พัดเข้ากรุงปักกิ่ง ของจีน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง
- ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนหรือพีเอ็ม10 (PM10) มากกว่า 2,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร
- คาดว่า จะกินเวลานานกว่า 12 ชม. กว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น
วันอาทิตย์ (28 มี.ค.) พายุทรายลูกใหม่แผ่ปกคลุมกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนอีกครั้ง ทำให้ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง
สำนักอุตุนิยมวิทยาปักกิ่ง ระบุว่าปักกิ่งมีกระแสลมแรงในช่วงเช้าวันอาทิตย์ โดยหลายพื้นที่มีทัศนวิสัยลดลงอยู่ที่ระหว่าง 1-2 กิโลเมตร
จางหลินน่า หัวหน้านักพยากรณ์อากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยาเทศบาลนครปักกิ่ง ระบุว่าสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นหนาและกระแสลมแรงจะกินเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีพายุทรายลูกนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าพายุทรายเมื่อวันที่ 15 มี.ค.
ศูนย์สังเกตการณ์ทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครปักกิ่ง ระบุว่าพายุทรายลูกนี้พัดถล่มมองโกเลียในวันศุกร์ (26 มี.ค.) และวันเสาร์ (27 มี.ค.) จากนั้นจึงเคลื่อนตัวมาทางทิศใต้ เข้าสู่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลกานซู่ มณฑลซานซี และมณฑลเหอเป่ยของจีน
ศูนย์ฯ ระบุว่าพายุทรายลูกนี้แผ่ปกคลุมทั่วปักกิ่งในเวลา 7.00 น. ของวันอาทิตย์ โดยมีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนหรือพีเอ็ม10 (PM10) มากกว่า 2,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร โดยคาดว่ามลพิษทางอากาศจะบรรเทาลงในช่วงค่ำวันอาทิตย์ หลังจากพายุทรายอ่อนกำลังลง
ข้อมูลทางการระบุว่าปักกิ่งเคยเผชิญพายุทรายพัดถล่มรุนแรงที่สุดในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งมีพายุทรายแผ่ปกคลุมเฉลี่ยนานถึง 18 วันต่อปี ต่อมาปักกิ่งมีสภาพอากาศดีขึ้นเนื่องจากมีความคืบหน้าในด้านการปลูกป่าทางตอนเหนือของจีน และในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษนี้ ปักกิ่งมีพายุทรายปกคลุมเฉลี่ย 0.6 วันต่อปี
ที่มา – ซินหัว