Ever Given คลองสุเอซ

เรือ 321 ลำรอเดินทางผ่าน ‘คลองสุเอซ’ หลังเรือยักษ์เกยตื้นขวางคลอง

ยังรอลุ้นว่าจะกู้ได้หรือไม่ หลังมีสัญญาณดีขึ้นว่าอาจจะสำเร็จ จากการใช้เรือลากจูง 14 ลำ ช่วยกันดึงเพิ่ม

Home / NEWS / เรือ 321 ลำรอเดินทางผ่าน ‘คลองสุเอซ’ หลังเรือยักษ์เกยตื้นขวางคลอง

ประเด็นน่าสนใจ

  • มีเรืออย่างน้อย 321 ลำทั้งบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ที่กำลังรอเดินทางผ่านคลองสุเอซ
  • ยังรอลุ้นว่าจะกู้ได้หรือไม่ หลังมีสัญญาณดีขึ้นว่าอาจจะสำเร็จ จากการใช้เรือลากจูง 14 ลำ ช่วยกันดึงเพิ่ม

โอซามา เรบี (Osama Rabie) ประธานองค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ระบุเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) ว่าปัจจุบันมีเรืออย่างน้อย 321 ลำทั้งบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ที่กำลังรอเดินทางผ่านคลองสุเอซ (Suez Canal) หลังจากเกิดเหตุเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ถูกพายุพัดขวางคลองสุเอซ ซึ่งขณะนี้เรือยักษ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างปฏิบัติการกู้เพื่อให้หลุดจากสันดอนทราย

เรบี แถลงว่าองค์การฯ ให้บริการด้านโลจิสติกส์ทั้งหมดตามที่เรือเหล่านี้ร้องขอ พร้อมกล่าวว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าปฏิบัติการนี้จะสำเร็จเมื่อใด เนื่องจากเรือมีขนาดใหญ่ น้ำหนักบรรทุกมาก และเกยตัวอยู่ในพื้นที่ตื้น ขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีเรือลากจูง 14 ลำ ที่กำลังพยายามทำให้เรือเอเวอร์ กิฟเวนหลุดออกจากฝั่ง

“เมื่อคืนมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะสำเร็จ … จนถึงจุดที่เรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการกู้เรือจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อคืนนี้” เรบีกล่าว โดยเสริมว่าองค์การฯ ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในการกู้เรือยักษ์ที่เป็นต้นเหตุของ” วิกฤตใหญ่” ลำนี้


เอเวอร์ กิฟเวน เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 224,000 ตัน ซึ่งติดธงสัญชาติประเทศปานามา ถูกกระแสลมแรงจากพายุฝุ่นพัดให้แล่นชนฝั่งและขวางคลองสุเอซเมื่อวันอังคาร (23 มี.ค.) ส่งผลให้องค์การฯ ประกาศในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) ว่าจำเป็นต้องระงับการเดินเรือในคลองขุดแห่งนี้ชั่วคราว โดยจะมีการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุนี้หลังจากกระบวนการลากเรือเสร็จสิ้น

โดยเจ้าของเรือเอเวอร์ กิฟเวนได้จ้างโบสกาลิส (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการกู้เรือให้มาช่วยองค์การฯ ทำภารกิจกู้คืนเรือลำดังกล่าว

อนึ่ง คลองสุเอซเป็นทางน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง อันเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก เนื่องจากเอื้อให้เรือเดินทางระหว่างยุโรปกับเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางทางทะเลระหว่างยุโรปกับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร โดยร้อยละ 12 ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำสายนี้