ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ บริการทางการเงิน ฝากเงินที่เซเว่น แบงกิ้งเอเย่นต์

ทำไมเดี๋ยวนี้เราจึง ฝาก-ถอนเงิน ได้ที่ ร้านสะดวกซื้อ, ร้านกาแฟ? 

ในรอบราว 1 ปีที่ผ่านมา คุณคงจะเห็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า ธนาคารบางแห่ง มีการเปิดตัวช่องทางบริการรับ ฝาก-ถอน เงินแปลกๆ ใหม่ๆ อย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทยจับมือกับแฟมิลี่มาร์ท คาเฟ่ อเมซอน ธนาคารออมสินจับมือกับเซเว่น…

Home / NEWS / ทำไมเดี๋ยวนี้เราจึง ฝาก-ถอนเงิน ได้ที่ ร้านสะดวกซื้อ, ร้านกาแฟ? 

ในรอบราว 1 ปีที่ผ่านมา คุณคงจะเห็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า ธนาคารบางแห่ง มีการเปิดตัวช่องทางบริการรับ ฝาก-ถอน เงินแปลกๆ ใหม่ๆ อย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทยจับมือกับแฟมิลี่มาร์ท คาเฟ่ อเมซอน ธนาคารออมสินจับมือกับเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นต้น

นั่นเองคือสิ่งที่เรียกว่า ‘แบงกิ้ง เอเย่นต์’ (Banking Agent) หรือ ‘ตัวแทนธนาคารพาณิชย์’ นะครับ ซึ่งจะยังคงทยอยมีมาอีกเรื่อยๆ

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบที่มาที่ไป และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงการเงินการธนาคารที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

แบงกิ้ง เอเย่นต์ คืออะไร? มีที่มาที่ไปอย่างไร? เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์อะไร? MThai จะมาไขขอข้องใจในเรื่องเหล่านี้ให้คุณได้ทราบกันครับ

แบงกิ้ง เอเย่นต์ คืออะไร

แบงกิ้ง เอเยนต์ ก็คือตัวแทนที่ผ่านการแต่งตั้งของธนาคาร เพื่อเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน ทั้งฝาก ถอน โอน ชำระเงิน ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย หรือกลุ่มฐานรากที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงิน

ตัวอย่างของแบงกิ้ง เอเย่นต์ ก็อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท, ร้านกาแฟอย่าง คาเฟ่ อเมซอน, อินทนิล รวมถึงไปรษณีย์ไทย ที่เป็นตัวแทนของหลายธนาคาร

ที่มาที่ไปของ แบงกิ้ง เอเย่นต์

ถึงแม้ว่า จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2559 จะพบว่า มีครัวเรือนไทยที่เข้าถึงบริการทางการเงินถึง 97.3 เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้วในภาพที่ลึกลงไป ยังมีประชาชนในชนบท พื้นที่ห่างไกล อำเภอรอบนอกตัวเมือง ที่ระยะทางและต้นทุนในการเดินทางไปธนาคาร ยังเป็นอุปสรรคของการใช้บริการในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกประกาศเรื่อง แบงกิ้ง เอเย่นต์ มาตั้งแต่เมื่อปี 2551 โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งแรกในปี 2553 และปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งหลังสุด เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มาของการปรับปรุงหลักเกณฑ์เดิมนั้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจไม่มีสาขาของธนาคารพาณิชย์ และการไปเปิดสาขาก็ไม่คุ้มทุน ขณะที่การเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบออนไลน์ก็ยังจำกัด ดังนั้น การแต่งตั้งตัวแทน จึงน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อธนาคารและประชาชน ทำให้เข้าถึงการให้บริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งหลังสุดนี้เองนะครับ ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างที่เราเห็นกัน

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้แตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง?

เกณฑ์เดิมนั้น อนุญาตให้ธนาคารแต่งตั้งเฉพาะ ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (หรือแบงก์รัฐ) ผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ผู้ให้บริการตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย เคาท์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 และแอปพลิเคชัน AirPay เป็นต้น) เป็นตัวแทนของธนาคารเท่านั้น

แต่หัวใจสำคัญของเกณฑ์ใหม่นั้น ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึง ‘นิติบุคคลอื่นๆ’ (รวมไปถึงบุคคลธรรมดา) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เข้ามาให้บริการได้

นิติบุคลอื่นๆ ที่ว่า เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย/ร้านค้าชุมชน

และเดิมนั้น หากต้องการให้มีนิติบุคคลเป็นตัวแทน ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์ กรณีพิเศษในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่รับชำระบิลเป็นหลักเช่น เคาน์เตอร์ เซอร์วิส แต่ต่อไปนี้ธนาคารสามารถแต่งตั้งตัวแทนที่เป็นนิติบุคคลได้ด้วยตัวเอง (ตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องขออนุญาตเป็นรายกรณีไป)

คุณสมบัติเหมาะสมของนิติบุคคลที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง?
  • จะต้องมีแหล่งที่อยู่ชัดเจน
  • มีเครื่องมืออุปกรณ์และระบบที่เหมาะสมกับการเป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์
  • เจ้าของนิติบุคคลจะต้องมีอายุภูมิลำเนาฐานะทางการเงินที่ผ่านเกณฑ์และไม่เคยได้รับโทษทางกฎหมาย
  • ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่เข้มงวดเช่นความสามารถในการเป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์ ที่ดีมีระบบบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สอดคล้องกับธนาคาร
  • ธนาคารต้องประกาศชื่อตัวแทนให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการหลอกลวงให้ฝากเงิน
แล้วสรุป แบงกิ้ง เอเย่นต์ ทำธุรกรรมทางการเงินอะไรได้บ้าง?
  • ฝากเงิน
  • ถอนเงิน
  • ชำระเงิน
  • เป็นตัวแทนจ่ายเงินแก่ผู้ใช้บริการรายย่อยไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการและไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย (ส่วนบริการจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายใหญ่ เช่น จ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับนิติบุคคลองค์กร หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีเพียงธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเท่านั้นที่ให้บริการได้)

ประโยชน์ของแบงกิ้ง เอเย่นต์ 

ประโยชน์ต่อลูกค้า
  • เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน
  • ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในชนบท แต่รวมถึงคนเมืองด้วย
  • เสียค่าธรรมเนียมถูกลง
ประโยชน์ต่อตัวแทน
  • มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นตัวแทน
  • ปริมาณลูกค้าและความถี่ในการมาร้านค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าก็เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าด้วย
  • ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินลงทุนและการอบรมให้ความรู้จากธนาคาร
ประโยชน์ต่อธนาคาร
  • ขยายฐานลูกค้า
  • ช่วยลดต้นทุนการจัดตั้งและบริหารสาขาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเร่องนี้อย่างที่เราเห็นข่าวอยู่ตลอดนะครับว่า ธนาคารทยอยไปสาขาไปเป็นจำนวนมาก
  • ปริมาณเงินฝากและรายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของลูกค้าและปริมาณการทำธุรกรรม
  • เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่ระบบดิจิทัลอื่นๆ ยังเข้าไม่ถึงเท่านั้น
  • ลดภาระการให้บริการทั่วไป โดยธนาคารสามารถถ่ายโอนการทำธุรกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำไปยังเอเย่นต์ และหันมาเน้นการให้บริการและทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนและต้องการความสามารถเฉพาะทาง เช่น การวิเคราะห์สินเชื่อ การให้คำแนะนำด้านการลงทุนแก่ลูกค้า

ตัวอย่างการให้บริการของแบงกิ้ง เอเย่นต์

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการให้บริการผ่านแบงกิ้ง เอเย่นต์ ของธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารออมสินมาให้ดูกันนะครับ

ธนาคารกสิกรไทย

(ยังไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาของแต่ละตัวแทน)

ไปรษณีย์ไทย – ฝากเงินสูงสุด 20,000 บาท ต่อรายการ และไม่เกิน 40,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียม 20 บาท ต่อรายการ

แฟมิลี่มาร์ท – ฝากเงินสูงสุด 2,500 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 5,000 บาท ต่อวัน ค่าธรรมเนียม 20 บาท ต่อรายการ

ค่าเฟ่ อเมซอน – ฝากเงินสูงสุด 5,000 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 40,000 บาท ตัววัน/ต่อคน 

ร้านกาแฟอินทนิลและร้านสะดวกซื้อสพาร์ – รับฝากเงินสด 20,000 บาท ต่อครั้ง ไม่เกิน 40,000 บาท ต่อวัน และมีแผนถอนเงินสดกับเปิดบัญชีเงินฝาก

ธนาคารออมสิน

เซเว่น อีเลฟเว่น – จำนวนในการรับฝาก ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อรายการ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท/วัน/บัญชี เด็กและเยาวชนอายุ 7-20 ปี ไม่เสียค่าธรรมเนียม บุคคลทั่วไป ค่าบริการรายละ 15 บาท เวลาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการทำรายการฝากเงิน

1.ลูกค้ามีบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน

2.ลูกค้าทำรายการฝากเงิน ณ จุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส

3.ลูกค้าแจ้งเลขที่บัญชีแก่พนักงานเพื่อทำรายการฝากเงิน

4.พนักงานทำรายการฝากเงินพนักงานรับเงินฝากพร้อมค่าธรรมเนียม (ถ้ามี)

5.ลูกค้าได้รับสลิปเพื่อใช้เป็นหลักฐานการฝากเงิน

นอกจากนี้ยังมีบริการถอนเงินสดโดยใช้บริการผ่านเมนู MyMo My Card บนแอพพลิเคชั่น MyMo และรับเงินสดได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. ทุกวันสามารถถอนเงินได้ตั้งแต่ 1-5,000 คิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายกา

ข้อมูลน่าสนใจของแบงกิ้ง เอเย่นต์ ในต่างประเทศ

ในต่างประเทศมีการใช้แบงกิ้ง เอเย่นต์ กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแถบละตินอเมริกาและบราซิล ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกบริการทางการเงินรูปแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการผ่านตัวแทน เช่น ไปรษณีย์ ร้านขายของชา ร้านค้าปลีก หรือร้านขายยาที่อยู่ตามชุมชน ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ผลของการมีแบงกิ้ง เอเย่นต์ พบว่า ในปี 2015 ชาวมาเลเซียในชนบทสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ถึง 97% จาก 46% ในปี 2011


อ้างอิง:

https://www.gsb.or.th/PromotionsDeposite/DekDFreeSavings.aspx

https://www.gsb.or.th/getattachment/80aaf963-7731-46a1-bbb2-899694b715bd/GR_hotissue_BankAgent_inter_detail.aspx

https://positioningmag.com/1207962

https://www.scbeic.com/th/detail/product/4728

https://www.thairath.co.th/content/1213165

https://www.thailandpost.co.th/un/article_detail/product/569/136