ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การเมือง กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางในสังคมไทย เนื่องจากมีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายมาอย่างยาวนาน จนยากจะต่อกันติด และในบางครั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมันก็เปรียบเหมือนการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะ
ครั้งหนึ่ง กลุ่ม กปปส. เคยออกมารวมตัวขับไล่รัฐบาลในสมัยนั้น จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 ที่มีทั้งเหล่าดารา นักแสดง พิธีกร ผู้จัดละคร และคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงจำนวนมาก ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน
แต่ขณะนี้ หลายคนคงได้เห็นถึงกระแสการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้นในเรื่องของการแสดงความคิดตั้งแต่มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างกรณี ปั้นจั่น ปรมะ อิ่มอโนทัย ที่ได้มีการโพสต์ข้อความทำนองว่า อย่าบ่นมาก ทำมาหากินต่อไป ไม่ใช่กินเหล้าปาร์ตี้มันทุกคืน ซึ่งขณะนั้น ภาพยนตร์เรื่อง รัก 2 ปียินดีคืนเงิน ที่เจ้าตัวเป็นนักแสดงนำ กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ทำให้ถูกสังคมแบนไม่มีใครเข้าดูจนต้องออกมาขอโทษ
“คสช อยู่มา 4-5 ปี บอกสืบทอดอำนาจ ได้อยู่ต่ออีก 3 ปี ก็ยังบอกสืบทอดอำนาจ แล้วไอ้ที่สืบๆ กันมาจนลูกจบนอกขับรถซุปเปอร์คาร์นี่มันยังไง ตรูไม่เห็นจะมีนักการเมืองใช้ชีวิตธรรมดาสักคน ต้นทุนบางคนที่ได้มาพ่อแม่ก็เอามาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าบ่นมาก ทำมาหากินไปมีเยอะก็เอาไปช่วยคนอื่นละกัน ทำบุญเยอะๆ ไม่ใช่แ_กแต่เหล้าปาร์ตี้มันทุกคืน”
จะเห็นได้ว่า ระยะเวลา 5 ปี ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหาร นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอสมควร ที่ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น จนทำให้เกิดการแสดงออก เฉกเช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มคนบันเทิง ที่เคยออกมาร่วมกลุ่มกับ กปปส.
และอีกหนึ่งคนที่กำลังมีกระแสอยู่ในขณะนี้ เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ หลังเจ้าตัวออกมาพูดถึงกรณีที่ตนเองเคยออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่สวนกระแส จนถูกถอดออกจากละครถึง 2 เรื่อง ซึ่งทาง MONO 29 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว
Q: ตอนนั้นคิดอะไรถึงตอบรับไปขึ้นเวทีเสวนาเกี่ยวกับการเมือง
ตอนนั้นสนใจการเมืองมาพักใหญ่แล้ว จนมีการติดต่อมาถามว่า สนใจมีเรื่องอะไรจะพูดบนเวทีไหม เราก็คิดว่าทุกคนตอนนี้พูดถึงแต่เรื่องแง่ร้าย Hate Speech (เฮทสปีช) ค่อนข้างเยอะ เราอยากพูดถึงว่า อยากเห็นเมืองไทยเป็นยังไง เราอยากสะท้อนมุมมองของวงการบันเทิงที่เห็นว่า เมืองไทยเป็นแบบไหน ก็เลยไปพูดแค่นั้นเอง พอดีมันมีคำถามว่า อยากให้ลุงอยู่ต่อไหม เอาตามความรู้สึกไปเลย ก็เลยพูดออกไปแบบนั้น จะให้อยู่ต่อทำไม
Q: ตกใจกับกระแสออนไลน์ถึงกรณีนี้ไหม?
ไม่ตกใจ แต่ตกใจที่คนแชร์ไปค่อนข้างเยอะมากกว่าว่า คนสนใจการเมืองเยอะขนาดนี้เลยเหรอ
Q: หลังจากพูดออกไปมีผลกระทบต่อชีวิตอะไรไหม?
ไม่มี มีคนด่าบ้าง ชมบ้าง เป็นปกติของปุถุชนคนธรรมดา ที่ทำอะไรแล้วไม่มีคนชอบร้อยเปอร์เซ็นหรือเกลียดร้อยเปอร์เซ็นต์
Q: คุณเพชร พูดว่า คสช. เข้ามายุติความขัดเเย้ง แอบเห็นด้วยตอนแรก?
ไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่เห็นด้วยว่า เลิกทะเลาะกันซะทีเถอะ มีกรรมการเข้ามาแม้กรรมการจะไม่ถูกต้อง แต่ก็คิดว่ามันไม่ควรปฏิวัติอยู่ดีนั่นแหละ ส่วนตัวไม่เคยขึ้นเวทีทางการเมืองฝ่ายไหนเลย มีแค่เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นที่เชิญมาตนก็ไป
Q: ส่งผลกระทบมากสุดตอนไหน?
มากสุดตอนออกไปชวนให้เลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แล้วคนในวงการบันเทิงที่เห็นต่างกับเราเขาก็เริ่มไม่สุงสิงด้วย เคยถูกถอดจากละครสองเรื่องด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ผู้จัดไม่ได้ให้เหตุผล แค่บอกว่าไม่ชอบแนวความคิดทางการเมืองเราที่แตกต่างจากเค้า ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของเขา สิทธิ์ของเจ้าของเงินเป็นคนเลือกว่าจะเอาเงินไปให้กับใครเท่านั้นเอง
สำหรับเราหากเราความเห็นไม่ตรงกัน หน้าที่ความรับผิดชอบกับความคิดเห็นมันแตกต่างกันนะ ถ้าได้รับหน้าที่แล้วก็ต้องทำให้เต็มความสามารถที่ต้องทำ เรื่องบางเรื่องอย่างเรื่องการเมือง ผมคิดว่า เราสามารถคุยกันได้ แต่ถ้าคุยกับคนนี้แล้วคนนี้ความเห็นไม่ตรง เราก็แค่ไม่คุยประเด็นนี้เท่านั้นเอง คนไทยส่วนใหญ่พอเห็นแตกต่างกันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว ทั้งๆ ที่ลืมไปหรือเปล่าว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมาหรือลงไป เราก็ยังอยู่ข้างๆ กัน ถ้าเราได้ผู้นำที่เก่งมันก็จะสามารถทำให้เราได้องค์ประกอบส่วนรวมของประเทศมันยกขึ้นมาได้ แต่เราเลือกที่จะรักคนแตกต่างกันแล้วเลิกคบกัน ผมว่ามันตลกมาก
Q: สถานการณ์ตอนนี้มองว่าเป็นยังไง คิดว่าจะสงบไหม จะอยู่ร่วมกันได้หรือยัง?
คิดว่ามันคงดีขึ้นจากเดิมที่พูดอะไรกันมากไม่ได้ วันนึงถ้าตั้ง ครม. เสร็จ ทุกอย่างก็เป็นประชาธิปไตย การเป็นประชาธิปไตยเราต้องมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะวิจารณ์ ตรวจสอบได้ ทุกอย่างต้องอยู่ในครรลองของกฎหมาย ไม่ใช่ว่าตรวจสอบแล้วใช้ความรุนแรง หรือเอาข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบเพื่อให้คนอื่นเชื่อ แบบนั้นก็มีความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว
Q: พอมีรัฐบาลใหม่ คุณเพชร ก็พร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะประชาชนเหมือนเดิม?
อยากให้คนพูดอภิปรายด้วยหลักการและเหตุผลมากกว่าอารมณ์ จะเห็นว่าอะไรก็ตามที่เราไม่ถูกใจผิดจากที่เราคิด เราจะด่าก่อนเลย ใช้ตัวเองเป็นศาล ตัดสินสิ่งไหนผิดถูก ต้องดูข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน คนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกับสิบเล่มย่อมมีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่แล้ว
Q: คิดจะเล่นการเมืองไหม มีคนสนับสนุนไหม
เราสนใจการเมือง แต่เราไม่คิดเล่นการเมือง เพราะเราคิดว่าการเมืองไม่สามารถเลี้ยงชีวิตเราได้ ส่วนใหญ่นักการเมืองก็รวยอยู่แล้ว แต่สำหรับพวกเราที่ ไม่ได้มีเงินเก็บ ค่าใช้จ่ายของเรามีเกินกว่ารายได้ของนักการเมืองที่มี ก็ไม่มีซัพพอร์ต ซึ่งไม่คุ้มต่อความเชื่อ
Q: มองคนอื่นที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร?
บุคคลสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักแสดงก็ได้ การแสดงความเห็นใดๆ ควรจะเป็นพื้นฐานของข้อเท็จจริงและใช้คำสุภาพ เพราะว่าคนติดตามเยอะ การพูดคำหนึ่งคำมันดัง ดังกว่าคนอื่นๆ ที่คนติดตามไม่กี่ร้อย เพราะฉะนั้นการพูดเสียงดังๆ มันต้องใช้ความคิดเยอะๆ บางครั้งเราใช้อารมณ์ สะใจ ดูเก๋า ดูเกรียนแล้วคิดว่ามันจะเท่ แต่อย่าลืมว่าเหรียญมีสองด้าน มีดีกะเลว ยังไงก็ต้องมีคนชอบและคนไม่ชอบ ต้องถามตัวเองก่อนโพสต์ว่า รับได้ไหมถ้ามีคนไม่ชอบกะความคิดนี้ หากรับได้ก็ทำเลยเพราะเป็นสิทธิของคุณ
ขณะเดียวกันการที่คุณทำสิทธิ์ของคุณก็ต้องไม่ก้าวข้ามก้าวล่วงสิทธิ์ของบุคคลอื่นในการแสดงความคิดเห็นเช่นกัน ผมว่าดารา คนมีชื่อเสียง มีสิทธิโพสต์ทุกอย่าง แต่ต้องคิดเยอะๆ ดีๆ ก่อนเท่านั้นเอง ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและถูกกล่าวว่าตำหนิ แต่ถ้ามันเลยเส้นของตำหนิเป็นหมิ่นประมาทให้ข้อมูลเท็จ ก็ให้กฎหมายตัดสินดีกว่า เพราะมันมีกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งหลายคนอาจจะมองข้าม แต่ผมฟ้องไปหลายคนแล้วสำหรับคนที่กล่าวหา คนที่ยอมโพสต์ขอโทษก็จบ แต่ไม่ขอโทษก็แจ้งอยู่ในชั้นศาล
ทุกคนเคยผิดพลาด หากผิดสำนึกขอโทษอย่างจริงใจด้วยเหตุผล ไม่ขอไปที คนไทยเป็นคนที่อะลุ่มอล่วยรู้แล้วขอโทษด้วยความจริงใจ ทุกคนก็พร้อมให้อภัย
ทั้งนี้ หลังจากเกิดประเด็นดังกล่าวขึ้นทาง MThai ได้สอบถามความคิดเห็นจากแฟนเพจว่า คิดเห็นอย่างไร เมื่อคนบันเทิงออกมาแสดงความคิดเห็น “เรื่องการเมือง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่เผยว่า เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่การแสดงความเห็นนั้นขอให้อยู่ในขอบเขต อย่าสร้างความเกลียดชังก็เป็นพอ
อย่างไรก็ตาม กรณีเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแสดงความเห็นอะไรก็ตาม ต้องคิดให้รอบคอบและยอมรับหากความเห็นนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ หากผิดก็ขอโทษด้วยเหตุผล เพราะสังคมไทยพร้อมจะให้อภัยเสมอ