เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทย เหลือ 3.5% เหตุสงครามการค้า-กังวลรัฐบาลผสม ด้านรายได้ท่องเที่ยวคาดโตแค่ 4.3%

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ซึ่งระบุว่า ในช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอการเติบโตลงจาก 4.1% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 3.5% ในปี…

Home / NEWS / เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทย เหลือ 3.5% เหตุสงครามการค้า-กังวลรัฐบาลผสม ด้านรายได้ท่องเที่ยวคาดโตแค่ 4.3%

ประเด็นน่าสนใจ

  • ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2562 เหลือ 3.5% จากเดิม 3.8%
  • ปัจจัยสำคัญคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ประกอบกับความกังวลต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสม 19 พรรค และความตึงเครียดด้านสงครามการค้า
  • ขณะที่กองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยปีนี้จะขยายตัวเพียง 4.3% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของ ททท. ก่อนหน้านี้ที่ 9.5%

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ซึ่งระบุว่า ในช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอการเติบโตลงจาก 4.1% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2562 นี้ ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%

ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวเหลือ 4% ในไตรมาสแรกของปี 2562 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบสามปี การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือน ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบสามปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน  และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อมาใช้ดำเนินการ ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐลดลง เนื่องจากการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่ล่าช้า มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงที่ 2.8% ในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกนับจากกลางปี 2558

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นจาก 3.5% ในปี 2562 เป็น 3.6% และ 3.7% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ

ทั้งนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมืองมีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้ นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยภายนอกได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่องอาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

ขณะที่กระทรวงการคลังรายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 – 5 กรกฎาคม 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.87 ต่อปี ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 62 โดยปัจจัยบวกที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.35 ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้ ข้าวสาร และเนื้อสุกร เป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยลบคือ สินค้าในกลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยลดลงร้อยละ -3.86 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.48 ต่อปี

ด้านกองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่าตลอดปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท โดยขยายตัวเพียง 4.3% ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ล่าสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึง 180,000 ล้านบาท ตามที่ ททท.คาดว่าตลอดปีนี้จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งสิ้น 3.38 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.5% จากปีที่ผ่านมา