ถือหุ้นสื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

ธนาธร ปมคดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปมคดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย หลังยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญ จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อฯ วี-ลัค…

Home / NEWS / ธนาธร ปมคดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปมคดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย หลังยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญ

จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อฯ วี-ลัค มีเดีย

อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) พร้อมทั้งสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยคุณสมบัติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 เป็นวันครบกำหนดตามกรอบเวลา 45 วัน ที่ให้นายธนาธรจะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งนายวรวุฒิ บุตรมาตร รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ ได้หอบเอกสารจำนวน 3 ลังมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และส่งคำร้องขอให้ศาลนัดไต่สวนพยานและพิจารณาโดยเปิดเผย รวมถึงขอให้ยกเลิกคำสั่งให้ธนาธรยุติปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ องค์คณะจะตรวจคำชี้แจง และพิจารณาว่าจำเป็นที่จะต้องมีการสอบพยานหรือเรียกเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่ หากเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอก็จะมีการอภิปรายและนำไปสู่การแถลงด้วยวาจาและลงมติ

ปิยบุตร ย้ำไม่ควรทำลายระบบกฎหมายการโอนหุ้น เพียงเพื่อกำจัดธนาธรคนเดียว

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 8 ก.ค. 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวถึงกรณีคดีหุ้น วี-ลัค มีเดีย โดยระบุว่า คดีดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล คสช. เริ่มตั้งแต่มีคำร้องไปจนถึงวันที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาทั้งสิ้น 417 วัน ตั้งแต่คดีของธนาธรนับตั้งแต่มีคนมาร้องที่ กกต. จนส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 53 วัน

หากศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานได้ ก็จะมีการออกวันที่นัดไต่สวนพยานในประมาณสิ้นเดือน ก.ค. และจะมีการนัดไต่สวนในประมาณสิ้นเดือน ส.ค. และจะมีคำวินิจฉัยออกมาในประมาณสิ้นเดือน ก.ย. ดังนั้นถ้าหากใช้มาตรฐานเทียบเคียงแบบเดียวกับดอน เป็นไปไม่ได้เลยที่คดีของธนาธรจะจบภายในวันสองวันหรือเร็วๆ นี้

ธนาธรและทีมกฎหมายได้ต่อสู้คดีนี้ในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีอำนาจในการพิจารณาของ กกต. กระบวนการพิจารณาที่ไม่ถูกต้องทางรูปแบบและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะการไม่เคารพหลักการฟังความทุกฝ่าย และไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจงอย่างเพียงพอ

ยังมีการต่อสู้ในประเด็นสำคัญว่าธนาธรไม่มีหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดีย อีกแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 มีเอกสารการโอนชัดเจน และในข้อกฎหมาย คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 ก็ยืนยันว่าผลการโอนให้ดูเมื่อมีการโอนเกิดขึ้นในใบรับโอน

เพราะฉะนั้นทุกอย่างจบสิ้นเรียบร้อยแล้วในวันที่ 8 ม.ค. ดังนั้นธนาธรจึงไม่มีการถือหุ้นในวันสมัครรับเลือกตั้ง โดยใช้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และแนวทางคำพิพากษาของศาล ทั้งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่เคยนำ ป.พ.พ.มาตรา 1129 มาใช้ทั้งหมด

ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2561 ได้มีกระบวนการยกเลิกการจ้างพนักงานทั้งหมดเพื่อเตรียมปิดบริษัท โดยตามสัญญาที่ทำกับนกแอร์ก็ระบุไว้ว่านิตยสารฉบับสุดท้ายจะผลิตออกมาในวันที่ 30 พ.ย. 2561 และยังมีหลักฐานสุดท้าย ก็คือการแจ้งไปที่สำนักงานประกันสังคมเพื่อแจ้งการเลิกกิจการในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2562

เพราะฉะนั้น กระบวนการเลิกกิจการจึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2561 แล้ว และสิ่งที่บริษัทวี-ลัคมีเดียทำ ก็เป็นแค่การรับจ้างพิมพ์ ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาเอง และไม่มีเนื้อหาการเมืองอะไรทั้งนั้น ดังนั้น หากจะตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองครอบงำสื่อ ก็ยิ่งใช้กับกรณีของนายธนาธรไม่ได้

ไทม์ไลน์เปรียบเทียบขั้นตอน-ระยะเวลา คดีหุ้นสื่อของดอน-ธนาธร

เพจเฟซบุ๊ก พรรคอนาคตใหม่ ได้มีการโพสต์ข้อความเปิดไทม์ไลน์เปรียบเทียบขั้นตอน-ระยะเวลา คดีหุ้นสื่อของดอน-ธนาธร โดยระบุว่า สำหรับการสรุปง่ายๆ คือ กระบวนการที่ กกต.รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ของคดีดอนใช้เวลา 417 วัน แต่คดีธนาธรใช้เวลา 53 วันเท่านั้น

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว ได้สั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวทันที แต่ไม่ได้สั่งให้ดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้ทั้งธนาธรและดอนขอขยายเวลาการส่งหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาออกไปเป็น 45 วันเหมือนกันทั้งสองคดี

สำหรับในคดีดอน ศาลเห็นว่าคดียังมีปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่กรณีตั้งประเด็นโต้แย้งกันอยู่ จึงนัดให้มีการเปิดไต่สวนพยาน ด้านธนาธรก็ได้ขอให้ศาลไต่สวนพยานโดยเปิดเผย (เพราะเป็นอำนาจของศาลที่อาจจะไม่ไต่สวนหรือไต่สวนแบบลับก็ได้)

และหากยึดตามบรรทัดฐานเดียวกัน เชื่อว่าศาลจะนัดไต่สวนพยานคดีธนาธรด้วยเช่นกัน โดยหากยึดบรรทัดฐานตามคดีดอน คาดว่าศาลจะนัดไต่สวนคดีธนาธรในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม และอ่านคำวินิจฉัยช่วงสิ้นเดือน ก.ย. 2562

สุดท้ายธนาธรและทีมกฎหมายมีความมั่นใจในการต่อสู้คดีนี้ ไม่มีความกังวลใดๆ เพราะแนวทางการตัดสินของศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1129 มาโดยตลอด และธนาธรก็มีหลักฐานตราสารโอนหุ้นครบถ้วน

แต่ถ้าหากจะยอมกันถึงขนาดว่าไม่เอามาตรา 1129 มาใช้เฉพาะกรณีธนาธรเพียงกรณีเดียว ระบบและแนวทางกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจและการโอนหุ้นทั้งหมดที่เคยทำกันมาในประเทศไทยก็จะปั่นป่วนไปหมด เพียงเพราะอยากกำจัดธนาธรคนเดียว ก็คงเข้ากับประโยคที่ว่า “เผาบ้านไล่หนู” คือการเผาทั้งบ้านให้พังทลายลงไป เพราะเพียงแค่อยากไล่หนูเท่านั้น

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดี ธนาธร กับการถือหุ้นสื่อ

ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เคยให้ข้อมูลถึงกรณีดังกล่าวไว้ดังนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 82 ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

โดยกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏว่าสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีที่มีการไต่สวนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าเป็นบุคคลผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการดำเนินการตามที่มีผู้ร้องคัดค้านเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ซึ่งเป็นการไต่สวนว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 151 หรือไม่

ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้แต่งตั้งขึ้น

ดังนั้นการดำเนินการทั้ง 2 กรณี จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โดยมิได้มีการเร่งรัดหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด