◾️โปรดเกล้าฯ ตั้ง 4 รมต. ใหม่ ‘ชัยวุฒิ’ เป็นรมว.ดีอีเอส – ‘ตรีนุช’ รมว.ศธ.
วันนี้ (23 มี.ค.2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
1. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
2. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3. นายสินิตย์ เลิศไกร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
4. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
◾️สถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 401 ราย
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย (23 มี.ค.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 401 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 383 ราย และผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 18 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 28,277 ราย หายป่วยแล้ว 26,766 ราย (เพิ่มขึ้น 103 ราย) เสียชีวิต 92 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย) และกำลังรักษาตัว 1,419 ราย
◾️กทม. ประกาศ 3 มาตรการคุมโควิด-19
สรุปมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย. 2564 ของกรุงเทพฯ ได้ประกาศออกมาแล้ว โดยกำหนดให้
- การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ โดยกิจกรรมพื้นฐาน อาทิ การจัดพิธีสรงน้ำพระรวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ให้ผู้จัดกิจกรรมและประชาชนปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเคร่งครัด กรณีมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 300 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน
- การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์โดยมีกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมพื้นฐานตามข้อ 1 เช่น การออกร้าน การจัดเลี้ยง ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 100 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน ทั้งนี้ ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม
- ควรหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงและสังสรรค์ในกลุ่มที่มาหลากหลายพื้นที่และควรงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
◾️กองทัพเมียนมายอมรับ เป็นเจ้าของกองข้าวปริศนา
จากกรณี ข้าวสาร 700 กระสอบ อาหารกระป๋อง น้ำมันพืช และใบชาแห้ง ในต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มจากกองทัพเมียนมาต้องการส่งเสบียง จาก จ.เมียวดี ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ให้กับฐานทหารที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ต.แม่สามแลบ แต่ตลอดเส้นทางแม่น้ำสาละวิน เป็นเขตอิทธิพลของกองพล 5 กองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศต่อต้านการรัฐประหาร และให้ความคุ้มครองประชาชนที่ออกมาชุมนุม เส้นทางการขนส่งจึงถูกปิดกั้น
◾️รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวโทษผู้ประท้วงก่อความรุนแรง
วันนี้ (23 มี.ค.) โฆษกเมียนมาแถลงว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจต่อความสูญเสียที่มีประชาชนเสียชีวิตจำนวน 164 คน แต่กล่าวโทษกลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงและวางเพลิง จนทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 9 นาย นอกจากนี้ยังกล่าวหาสื่อที่รายงานข่าวปลอมและโหมกระพือความไม่สงบ รวมทั้งขู่ว่าผู้สื่อข่าวอาจถูกดำเนินคดี หากติดต่อกับกลุ่มซีอาร์พีเอช หรือ คณะกรรมการผู้แทนรัฐสภาเมียนมา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย
◾️เสนอยูเนสโก ขึ้นทะเบียน ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
ที่ประชุม ครม. เมื่อวานนี้ ได้มีการเสนอให้เมนู ต้มยำกุ้งของไทย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปี ค.ศ. 2003
เนื่องจากต้มยำกุ้ง เป็นอาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก อีกทั้งยังมีคุณค่าสะท้อนวิถีที่เรียบง่ายของชุมชนริมน้ำลำคลองในภาคกลางของไทย
โดยก่อนหนี้นี้ ประเทศไทยเคยเสนอให้ โขน และ นวดไทย ไปแล้ว โดยทั้ง 2 อย่างนี้ ได้มีการขึ้นทะเบียนไปเมื่อปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ