วันนี้ (11 ก.ค. 62) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 โดยชานมไข่มุกที่มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 – 140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน และทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก
จากผลทดสอบพบว่า ยี่ห้อ KOI Thé มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุด มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice มีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม หรือ 18.5 ช้อนชา
โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม คือ ยี่ห้อ KOI Thé และ ยี่ห้อ TEA 65°
ส่วนผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในเม็ดไข่มุก พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ The ALLEY มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BRIX Desert Bar พบปริมาณกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สำหรับผลทดสอบโลหะหนักในเม็ดไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว
ทั้งนี้ การที่ชานมไข่มุกมีสารกันบูด ขอให้ผู้ประกอบการระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย (อย.) และควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้มากขึ้น