ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาชี้แจง และพูดถึงผลงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านแฟนเพจ พรรคพลังประชารัฐ ว่า
หลังจากที่ได้เห็นข่าว จั่วหัว “กอร์ปศักดิ์ แฉ ตู่ 1 สร้างหนี้ 2 ล้านล้าน” ผมเข้าไปฟังเนื้อหาการนำเสนอข่าว และตามอ่านต่อในเพจ เพื่อต้องการทราบความคิดที่สื่อสารออกมา พบประเด็นดังนี้
1.คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ มิได้ “แฉ” การกู้เงินของรัฐบาลที่ผ่านมา เพียงแต่ ตั้งคำถามแบบเป็นห่วงถึงการบริหารการเงินของรัฐบาลที่กำลังจะมารับหน้าที่
2.การตั้งสมมติฐานความสัมพันธ์ว่า การกู้เงิน กับการหารายได้เข้าประเทศ เกี่ยวกันในทิศทางเดียวกัน ผมเห็นว่าเป็นสมมติฐานที่บิดเบี้ยว เพราะขาดการมองวัตถุประสงค์ และไม่ได้นำข้อเท็จจริงว่า การลงทุน และการหารรายได้รัฐ เป็นคนละเรื่องกัน
3.มุมมองว่า กู้เงิน มามาก เพราะ แจกเงินมาก เรื่องนี้ ผมว่าควรคิดไตร่ตรองมากๆ คุณกอร์ปศักดิ์ อ้างถึงสมัยที่พรรคตนบริหาร และได้แจกเงิน 2,000 บาท โดยกู้มา และบอกว่า ถัดมาสามารถหาเงินภาษีมาได้
ตรงนี้ฟังๆเหมือน สไตล์นักการเมืองตีกิน เพราะแท้จริง รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้มีนโยบายแจกเงิน ผมจึงเห็นว่าเป็นเรื่องคลาดเคลื่อนในการเปรียบเทียบและอาจทำให้เข้าใจไปว่า รัฐบาลกู้มาแจก ซึ่งไม่ใช่ความจริง
4.การมองการบริหารเงิน ผ่านแว่นตาของคนการคลัง โดยพยายามเสนอความคิดที่ว่า ให้ไปใช้กลไกนโยบายการเงิน เพื่อหารายได้เข้ารัฐ เรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นไปได้ทั้งสิ้น หากแต่คงต้องมองถึงสภาวะเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงความจำเป็นต่อการใช้นโยบายการคลัง ว่าเป้าหมายคือการลงทุนเพื่อปรับรากฐานทางเศรษฐกิจ
5.การตั้งประเด็นว่า กู้เงินเยอะ ไม่ได้เงินคืนมากและเร็วเพียงพอ อันนี้ผมว่าต้องลงรายละเอียด เพราะรัฐบาลที่ผ่านมา เน้นการลงทุน หากมองว่าการลงทุน ย่อมต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ซื้อของมาขายและหวังรอผลตอบแทนกำไร แต่เป็นการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า
โครงการEEC โครงข่ายสำคัญทางด้านการรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล หรือการปรับปรุงด้านคมนาคมขนส่ง ขยายถนนที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้สำเร็จ ประเด็นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ให้ความเป็นธรรมในการพูดถึง ว่าการลงทุนของรัฐบาลไม่ได้ต้องการการ “คืนทุน” ในรูปแบบเงินรายได้แต่เพียงด้านเดียว กลับกัน “ความเป็นอยู่” ของประชาชน คุณภาพชีวิตต่างหาก ที่เป็นตัววัดผลตอบแทนการลงทุนของรัฐ
6.กล่าวถึงการกู้เงินเพื่อมาจ่ายคืนเงินกู้ และไม่พอ จึงกู้มากขึ้นทุกปี ตรงนี้แท้จริงถูกครึ่งเดียว เพราะที่ผ่านมา รัฐมีภาระที่ต้องชำระเงินที่เสียหายจากโครงการจำนำข้าว และโครงการที่รัฐเคยทำสัญญาและต้องชดเชย อันล้วนแต่มาจากภาระผูกพันของรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมา
ดังนั้น โดยความรับผิดชอบของผู้ที่ต้องขับเคลื่อนประเทศ ย่อมจำเป็นต้องหาทางเยียวยาแก้ไข และการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวก็อยู่ในข่ายที่รับได้ และไม่ได้สร้างภาระใหม่มากไปกว่าที่เคย
ผมเป็นคนมองโลกในแง่บวก แน่นอน มุมมองของผู้ที่เคยนั่งในตำแหน่งรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ ย่อมต้องเห็นหลายๆ อย่าง จากประสบการณ์ของท่าน เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า นี่คือข้อดีว่าเราจะมีการตั้งคำถามแบบเป็นห่วง ติเพื่อก่อ หาทางสร้างผลงาน และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
อีกด้านหนึ่งคือ การรับรู้ของประชาชน ต่อการนำเสนอข่าวสาร ผ่านการเห็นแค่หัวข้อข่าว ผมมองเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ ที่ต้องการการพัฒนา คงต้องลงถึงระดับการศึกษา ว่าด้วยการฝึก คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อรับรู้และเข้าใจกับข้อมูลที่มีมากมายในยุคสังคมปัจจุบัน