ประเด็นน่าสนใจ
- คุณแม่เผยวิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ ด้วยการใช้อายชาโดว์
- วิธีดังกล่าวทำเหมือนว่าเกิดขอบตาสีดำ ซึ่งเป็นผลพวงการเล่นมือถือ
- คนต่างถูกใจและยืนยันว่าได้ผลจริง
วันนี้ (13 ก.ค. 2562) โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อวิธีการแก้ปัญหาลูกติดโทรศัพท์มือถือจากคุณแม่รายหนึ่ง ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีง่ายๆ แต่กลับได้ผลเกินคาด เพราะลูกไม่กล้าที่จะเล่นโทรศัพท์มือถืออีกเลย
โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Solly Kandee ที่ได้เผยว่า ลูกสาวของเธอเป็นอีกคนได้ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก ใช้วิธีไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกหยุดเล่นได้ เธอจึงใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการนำอายชาโดว์สีดำมาทาบริเวณขอบดวงตาของหนูน้อยในช่วงที่กำลังหลับ
จากนั้นพอตื่นขึ้นมาก็จะบอกว่ารอยสีดำปรากกรอบดวงตาเป็นผลมาจากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานนั่นเอง ซึ่งจากแนวคิดง่ายๆ แบบนี้ทำให้ได้ผลอย่างเหลือเชื่อเพราะลูกกลัวและไม่กล้าจับโทรศัพท์เล่นอีกเลย
ขณะที่ผู้โพสต์ได้มีข้อความระบุว่า ลองแล้วได้ผล!! ลูกเล่นโทรศัพท์ แอบทาอายชาโดว์สีดำตอนหลับตื่นขึ้นมาเห็นตัวเองร้อง บอกว่าเพราะเล่นมากไงตาถึงเป็นแบบนี้ไม่เอาไม่เล่นแล้ว #แอบสงสารและอดขำไม่ได้555
ทั้งนี้เมื่อภาพและข้อความดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปทำให้มีคนส่งต่อและคิดจะนำวิธีนี้ไปปฏิบัติเพื่อที่ว่าเด็กๆ ที่บ้านจะเลิกเล่นโทรศัพท์มือถือได้ไม่มากก็น้อย บ้างก็ว่าเคยลองแล้วใช้ผลอย่างเช่นผู้โพสต์จริงๆ
สำหรับการให้เด็กดูโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ นั้นมีความเสี่ยงทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กช้าลง และมีโอกาสเสี่ยงเป็นออทิสติกเทียม สมาธิสั้น เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถูกปล่อยให้นั่งเล่นคนเดียวเป็นเวลานานทำให้ขาดทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาลูกติดเกมเบื้องต้นสามารถจัดการได้ดังนี้
- จำกัดเวลาเล่น โดยทำข้อตกลงว่าในแต่ละวันลูกจะเล่นได้ช่วงไหนบ้าง ซึ่งต้องทำตามอย่างเคร่งครัด
- เมื่อลูกเริ่มเล่นเป็นเวลามากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจลองเอาเทคโนโลยีทุกสิ่งออกให้ห่างจากลูก โดยไม่หยิบมาให้เห็นเลย
- หากิจกรรมอื่นทดแทนที่ใกล้เคียงกับเกมที่ลูกเคยเล่น เช่น หากลูกชอบเล่นเกมปลูกผัก ก็อาจจะพาลูกไปปลูกผักจริง ๆ หรือไม่ก็พาไปเล่นตามสวนสาธารณะ
- ต้องคอยให้กำลังใจและชื่นชมเวลาที่ลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นมือถือ
- คนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก โดยไม่เล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดต่าง ๆ ให้ลูกเห็นเพราะเขาจะทำตาม แต่หากจำเป็นต้องใช้งานควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าต้องใช้เพื่อทำงาน หรือเพื่อสื่อสารเรื่องสำคัญและเมื่อใช้เสร็จต้องรีบเก็บทันที
ข้อมูลบางส่วนจาก trueplookpanya.com