บทความวิจัยจากคณะผู้เชี่ยวชาญจีนระบุว่าราวร้อยละ 40 ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในนครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน มีแอนติบอดีที่สามารถเป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อซ้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 9 เดือน
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารการแพทย์เดอะ แลนเซต (The Lancet) ในสัปดาห์นี้ ระบุว่าอัตราผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกของอู่ฮั่น ซึ่งถูกปรับปรุงแล้ว อยู่ที่เพียงร้อยละ 6.9 นั่นหมายถึงมีประชากรของเมืองติดเชื้อในสัดส่วนขนาดเล็กหลังเกิดการระบาดของโรค
“การประเมินสัดส่วนประชากรที่ติดโรคโควิด-19 และคนที่มีภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์ป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคระบาดใหญ่ซ้ำในอนาคต” หวังเฉิน ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งชาติจีนและวิทยาลัยแพทย์ปักกิ่งยูเนียนกล่าว
การศึกษาครั้งนี้ทดสอบแอนติบอดีของโรคโควิด-19 ในประชาชนท้องถิ่นมากกว่า 9,500 คน หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เมืองในช่วงต้นเดือนเมษายน 2020 ต่อด้วยการตรวจตัวอย่างเลือดในเดือนมิถุนายนและระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพื่อตรวจดูการมีอยู่ของแอนติบอดี
การศึกษาหลายครั้งก่อนหน้านี้ในหลายประเทศชี้ว่าประชากรที่ติดโรคโควิด-19 ซึ่งประเมินจากอัตราผลตรวจแอนติบอดีในน้ำเหลืองเป็นบวก มีจำนวนสูงกว่าที่มีการรายงานจริง โดยการศึกษาครั้งใหม่ชี้ว่าอาจเป็นเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ไม่ได้ตรวจโรค หรือมีอาการเล็กน้อย
นอกจากนั้นระดับแอนติบอดีในผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการยังต่ำกว่าผู้ป่วยยืนยันผลและผู้ป่วยที่แสดงอาการในการศึกษาครั้งนี้ โดยเหรินหลี่ลี่จากสถาบันชีววิทยาจุลชีพ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ กล่าวว่าผลการศึกษาครั้งนี้อาจช่วยเอื้อการป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคต
ริชาร์ด สตรักเนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากสถาบันโดเฮอร์ทีของออสเตรเลีย แสดงทัศนะต่อผลการศึกษาครั้งนี้ว่า “เน้นย้ำความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขจีนในการควบคุมโรคโควิด-19 ในอู่ฮั่น ณ ช่วงที่การตรวจ การแกะรอย และการรักษา ยังด้อยพัฒนา”
“นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการอธิบายการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) และความเข้าใจที่มีต่อระบบภูมิคุ้มกันในยุคโรคระบาดใหญ่นี้” สตรักเนลล์กล่าว