ประเด็นน่าสนใจ
- คดีสาวซีวิคชนรถตู้เสียชีวิต 9 ศพ ผ่านมา 9 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ทั้งๆ ที่ศาลมีคำตัดสินสิ้นสุด
- ผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ จึงโพสต์เล่าถึงการต่อสู้ และอยากให้ออกมารับผิดชอบ
- ’ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่’ คือคำขอจากเหยื่อ ถึงครอบครัวของผู้ก่อเหตุ
วันนี้ (16 ก.ค. 2562) โลกออนไลน์ได้เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ น.ส.แพรวา ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553 แต่เวลาล่วงเลยผ่านมา 9 ปีแล้ว ผู้ก่อเหตุยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้รอดชีวิต
โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านผู้ใช้ทวิตเตอร์ @tintinwarunyoo ที่เข้ามาขยายความกรณีที่พิธีกรข่าวชื่อดัง ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าอีกครั้งว่าผ่านรายการ เพื่อบอกเล่าว่าผ่านมา 9 ปีแล้วแต่ผู้ก่อเหตุและครอบครัวไม่คิดที่จะยื่นมือช่วงเหลือ หรือขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ภาพจำลองจากกองพิสูจน์หลักฐาน #แพรวา9ศพ pic.twitter.com/gdSPAxhjR8
— lisoo4eva (@lisoo4eva) July 15, 2019
ซึ่งผู้โพสต์ได้เล่าว่า วันเกิดเหตุ เป็นวัน27/12/53 เป็นมิดเทอม ปี 3 ของธรรมศาสตร์ อ่านหนังสือจนดึกเพื่อสอบตัวสุดท้ายวันพรึ่งนี้ กลับบ้านด้วยรถตู้ หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้กลับมาสอบอีกเลย เสียชีวิตทันที 8 คน มาเสียที่ รพ อีก 1 เป็น 9 คน (ใครบ้างก็น่าจะรู้กันหมดแล้ว) รอดชีวิต 4 คน 1 ใน 4 คนเป็นชาวต่างชาติ
เราหลับตื่นมาอีกทีด้วยเสียงกรีดร้อง พบว่าตัวเองอยู่บนโทลเวย์แล้ว ถึง รพ กระดูกไหปลาร้าเราหัก 3 กระดูกเข่าซ้ายแตก แขนขวาหักพร้อมแผลใหญ่ กระจกรถปักทั่วร่างจนเลือดอาบหน้า เราโดนชน 3 ทุ่มแต่ได้เข้าห้องผ่าตัดตอน 7 โมงเช้า ตอนนั้นมีคนหนักกว่าเราเยอะ
หลังผ่าตัดเราขยับร่างกายไม่ได้เลย เพราะโดนพันท่อนล่างหมด เป็นเวลากว่า 2 เดือน ที่นอนนิ่งๆบนเตียง มันยากมาก ร้องไห้บ่อยมาก หงุดหงิดตัวเองมากที่ต้องขี้เยี่ยวบนเตียง แน่นอนว่าเราไม่ได้ไปเรียน
พยาบาลเล่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้เจ็บจริง แต่ขอรถเข็นมานั่งระหว่างเข้าเยี่ยมคู่กรณี
ครั้งแรกที่เจอแพรวา มาพร้อมกับแม่และช่างภาพ เรายังนอนติดเตียงอยู่เลย น้องนั่งรถเข็นมาในห้อง คนที่พูดทั้งหมดคือแม่ แม่พูดจบจึงบอกว่าน้องว่า “ขอโทษพี่เขาสิลูก” น้องพูดว่า “หนูขอโทษค่ะ” นั้นคือครั้งสุดท้ายที่เราเจอกัน พร้อมมอบขนมเปี๊ยะบ้านอัยการและถ่ายรูป
ตอนนั้นไม่รู้สึกถือโกรธแล้วเพราะมันคืออุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจ เราก็สึกสึกดีนะที่มาขอโทษ ที่เขาไม่พูดเพราะเขายังเด็กอาจจะกลัวด้วย พอน้องออกไป พี่พยาบาลก็มาเล่าว่าน้องเขาเดินมาปกตินะ แต่มาขอรถเข็นหน้าวอร์ด เราเลยอึ้งไปพักนึง
เราหัดเดินให้กลับมาปกติ 1 ปี ระหว่างนั้นก็กลับไปเรียนด้วย ร่างกายปกติทุกอย่างหลังจากนั้น 3 ปี ระหว่างนั้นก็ต้องไปหาหมอ ค่ารักพยาบาลที่เกิดขึ้นประกันรถเป็นคนจ่าย แต่หลังจากออก รพ. เวลาไป follow up เราต้องออกเองซึ่งเป็นจำนวนมากและได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ไปในศาล
คดีความแบ่งเป็น 2 คดีคือ อาญาและแพ่ง อาญา มาหากันว่าใครผิดระหว่างรถตู้หรือแพรวา ระหว่างนั้นคุณป้าซึ่งเป็นแม่คนขับรถตู้ จะยกมือขอโทษเราทุกครั้ง “ขอโทษที่ลูกสาวป้าทำให้เราเจ็บ” เราไม่ได้ถือโกรธเลย แต่เราไม่ได้คำยินคำนี้จากแพรวาเลย
คดีอาญามาถึงศาลเด็กฯชั้นต้น วันเปิดคำพิพากษา คณะผู้พิพากษามาถามว่าให้เราเข้ากระบวน RJ มั้ย(กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์) คดีจะไม่ติดตัวเด็กให้มาไกล่เกลี่ยกันคุยกัน โอ้โหแต่ 3 ปี ก่อนหน้านี้เราเหนื่อยมาก เขาต่างหากที่ไม่ยอมคุยไม่ยอมมาเราเสียใจกับศาลในตอนนั้นจริงๆ
การต่อสู้คดีถึงศาลฏีกา แม้เหยื่อยอมแล้ว แต่ผู้ก่อเหตุกลับไม่ยอมแพ้
ศาลตัดสินให้เขาผิด แต่ให้รอลงอาญา นั้นหมายความว่าไม่ติดคุก ไปบำเพ็ญประโยชน์แทน ทางทนายแพรวาเขาอุทธรณ์ในคดีอาญา และก็พาเรามาถึงชั้นฎีกา สูงสุด ซึ่งเป็นเค้าเองที่ไม่ยอม แต่เหยื่อยอมหมดแล้ว หมดแรงแล้ว
คดีแพ่ง ก็เริ่มฟ้องเช่นกัน ศาลชั้นต้นส่งให้จ่ายตามผลคดีอาญาเพราะแพรวาผิดจริงๆ และให้คนที่แพรวายืมรถจ่ายด้วย ถึงแม้ผู้ชายคนนั้นจะไม่ใช้ผู้ปกครอง แต่ศาลมองว่าการที่ผู้ชายคนนั้นไปรับไปส่งแพรวาพ่อแม่รับรู้ย่อมเปรียบเหมือนผู้ปกครอง
คดีแพ่งมาถึงชั้น อุทธรณ์ ศาลสั่งให้ลดเงินลงโดยไม่นำสืบ ตามที่ทนายแพรวายื่นอุทธรณ์ จนมาถึงชั้นฎีกาของแพ่ง ศาลสั่งให้ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ก่อนจะเปิดคำพิพากษาชั้นฎีกาของคดีแพ่ง ทางศาลนำเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย
การต่อสู้ในชั้นศาลทุกศาล ผู้ก่อเหตุไม่เคยไปศาล มีเพียงส่งทนายเท่านั้น
เหตุการนี้แหละบั่นทอน 9 ปีที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเรายอมเขาทุกแล้ว ขอประวิงเวลาอย่างเห็นได้ชัด สู้กันถึง 3 ศาลทั้ง 3 คดี และเราไม่เคยเจอแพรวาและพ่อแม่เลย มาถึงไกล่เกลี่ยเราหวังว่ามันคือการพูดคุยกันที่ดี ปรากฎว่าเขาไม่มา ส่งทนายคนผู้เป็นญาติฝั่งแม่มา
ศาลนัด 8.30 โมงเขามา 10 โมง ทุกคนรอ พอมาถึงคำแรกที่พูดเขาบอกว่าแค่จะมารับฟังว่าทุกคนจะร่วมไกล่เกลี่ยมั้ยแค่นั้นไม่ได้มีประเด็นจะพูดอะไร อันนี้งงสุด แล้วคุณเองหรือเปล่าให้เราเข้าไกล่เกลี่ยเรามาแล้วแต่คุณไม่พร้อมอีก
นัดอีกทีเดือนหน้า เราบอกกับแม่ว่าเขาพูดมาเท่าไหร่ก็เท่านั้นนะแม่ เงินที่รักษาตัวไปมันถือว่าหายไปแล้ว แม่ต้องหยุดทำงานขาดรายได้เป็นปีก็เท่านั้น (ศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยแม่แค่ 4000 บาทเราก็น้อมรับ) จะได้จบซักที เราก็โอเคกับเงินก้อนนั้นที่เขาเสนอมาเพราะอยากจบจริงๆ
นัดรอบหน้า คราวนี้เราไม่มาแล้วตอนนั้นอยู่ภูเก็ต พี่ทนายโทรมาบอกว่าทนายฝั่งโน่นให้ไม่ได้แล้วนะ และก็เปิดลำโพงให้เราคุยในชั้นไกล่เกลี่ย ทนายแพรวาบอกว่า ถ้าไม่รับตัวเลขใหม่ก็จบไม่คุยแล้ว ไปฟ้องล้มละลายหรือยึดทรัพย์เอานะครับได้กันอีกทีไม่กี่บาทหรอก อาจจะไม่ได้เท่านี้
นัดไกล่เกลี่ยชดเชย แต่กลับต่อรองเหมือนผัก ปลา
เขาต่อราคาเรายังกะผักปลา ในคำร้องให้ศาลทุเลาบังคับคดี โดยทนายแพรวาบอกเป็นลายลักษณ์ว่า ยินดีชดใช้ถ้าคดีถึงสิ้นสุด โดยอ้างเรื่องชื่อเสียงวงศ์ตระกูลอ้างว่าเป็นทายาท “พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” บุคคลผู้มีชื่อเสียงและประกอบคุณงามความดีของประเทศนี้ เขาเขียนอย่างนี้จริงๆ
เราเลยไม่โอเค ไม่ยอมรับเงินก้อนนั้น ถึงแม้ตอนแรกอยากจะรับเพราะเหนื่อยแล้ว และมันเป็นเงินที่ต่ำกว่าศาลให้ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาเลยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด แต่เป็นเรื่องความใส่ใจต่างหากที่เราไม่รู้สึกเลย
หวังเรื่องนี้ถึงครอบครัว เทพหัสดิน ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง
เมื่อเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมาศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ให้ชำระค่าเสียหาย รอบนี้ไม่มีมาทั้งทนายและแพรวาเช่นเดิม สู่ 9 ปีผ่านมาแล้วที่ไม่เจอกันตั้งแต่ครั้งแรก เรายอมทุกอย่างเชื่อตามศาลทุกอย่าง อดทนไม่พูดมา 9 ปีแล้ว จนมันไม่ไหวเเล้ว เราไม่เข้าใจว่าเขารออะไร
เราเข้าใจเลยว่าเธอไม่ตั้งใจ มันคืออุบัติเหตุ แต่หลังจากนั้นหรือเปล่าสิ่งที่เพื่อนมนุษย์เขาปฏิบัติต่อกัน มันสำคัญกว่าเรื่องฟ้องร้องเลยอะ เงินแค่นั้นแลกกับการโดนชนแบบนั้น เราถามว่ามีใครอยากได้บ้าง แลกกับเสียลูกไปใครอยากได้บ้าง ?
ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน หวังว่าครอบครัวเทพหัสดิน คงจะได้ยิน