ประเด็นน่าสนใจ
- วันนี้ (16 ก.ค.) ครม.ชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ รับหน้าที่ ถือเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ และสิ้นสุด รัฐบาล คสช. อย่างเป็นทางการ
- ตลอดเวลาที่ผ่านมา คสช. ออกประกาศและคำสั่งมามากกว่า 500 ฉบับ มากที่สุดในปี 2557
- ประเภทคำสั่งที่ออกมามากที่สุดคือ คำสั่งที่เกี่ยวกับ “การแต่งตั้ง” ต่างๆ
- 5 ปีที่ผ่านมา มีทั้งผลงานเด่น และผลงานยี้
- เตรียมจับตา 25 ก.ค. นี้ แถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ คาด ฝ่ายค้านจัดหนัก
หลังจากที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ คสช. ได้แถลงอำลาหน้าที่ของหัวหน้า คสช. โดยสรุปว่า หน้าที่และบทบาทของคสช. จะหมดวาระลงในวันนี้ หลังจากมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ ของ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในช่วงเวลา 18.00 น. ของวันนี้ (16 ก.ค. 62)
ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดยุค คสช. และหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็จะกลายเป็นผู้นำโดยปราศจาก “ม.44” แล้วนั้นเอง
ย้อนร้อย “คสช.”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.30 น. ในการประชุมร่วมของตัวแทนกลุ่มการเมืองหลายฝ่าย เพื่อแพ้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น หลังการประชุมยืดเยื้อเป็นวันที่สอง และส่อแววว่า จะยังคงไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ และผู้นำเหล่าทัพ ได้ประกาศทำรัฐประหารในที่ประชุมดังกล่าว
“ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น.
โดยในเย็นวันที่ 22 พ.ค. 2557 นั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ออกประกาศฉบับแรก โดยระบุเหตุผลในการยึดอำนาจในครั้งนี้ว่า เนื่องจากมีแนวโน้มความรุนแรงต่างๆ ทางการเมืองขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จึงมีความจำเป็นในการที่จะต้องทำรัฐประหาร
โดยในเจตนารมณ์ ของคสช. นำโดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเชื่อมั่น บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ เพื่อสร้างเสถียรภาพในทุกๆ ด้านของประเทศ
ซึ่งนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 รวมระยะเวลากว่า 5 ปี คสช. มีการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ ไปแล้วจำนวน 516 ครั้ง
ซึ่งในจำนวนคำสั่งทั้งหมด แบ่งเป็น
- คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ “การแต่งตั้ง” จำนวน 128 ฉบับ
ทั้งเป็นการแต่งตั้งบุคคลและคณะกรรมการต่างๆ เช่น แต่งตั้งบอร์ดกองสลากฯ, แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรธน. - คำสั่งเกี่ยวข้องกับ “การยกเลิก” จำนวน 92 ฉบับ
เช่นการยกเลิก-ระงับการสรรหากรรมการ กสทช., ยกเลิกมาตราการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย - คำสั่งเกี่ยวกับ “การแก้ไขปัญหา” จำนวน 49 ฉบับ
เช่น การแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว, แก้ไขปัญหาการบริหารราชการเมืองพัทยา - คำสั่ง “ให้บุคคลมารายงานตัว” จำนวน 43 ฉบับ
- คำสั่งเกี่ยวกับ “การดำเนินการ” ในเรื่องต่างๆ จำนวน 28 ฉบับ
เช่น การดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว, ดำเนินการกองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร, อนุญาตให้ดำเนินการทางการเมือง - คำสั่งเกี่ยวกับ “การพัฒนา” จำนวน 19 ฉบับ
เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก, การจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (บุกรุกลำน้ำ) - คำสั่ง “ห้าม” จำนวน 18 ฉบับ
เช่น การห้ามออกนอกเคหะสถาน, ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร - คำสั่งเกี่ยวกับ “การปฏิรูป” จำนวน 16 ฉบับ
เช่น การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ, การปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น - คำสั่งเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลง” จำนวน 15 ฉบับ
ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะทำงานใน คสช.
โดยในจำนวนนี้ มี 1 ฉบับ ที่เป็นประกาศ “การกำหนดอัตราตำแหน่งและค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ฉบับที่ 93/2557
และในภายหลังได้มีการยกเลิกคำสั่งต่างๆ ไปแล้ว จำนวนกว่า 60 ฉบับ ซึ่งมีอีก 240 กว่าฉบับที่ถูกระบุว่า ไม่ต้องมีการยกเลิก และอีกราว 60 ฉบับที่จะต้องคงไว้ต่อเนื่องเพื่อ “ส่งต่อ” ไปยังรัฐบาลประยุทธ์ 2 นั่นเอง
ผลงานเด่น ในรอบ 5 ปี
ตลอดกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลงานจำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงว่า เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ คสช. ด้วยเช่นกัน
I. นโยบายช่วยเหลือผู้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ
โดยนโยบายในกลุ่มนี้ ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกล่าวถึงเห็นจะเป็น การคืนโฉนดที่ดินทำกิน ให้กับประชาชนจำนวนกว่า 24000 ราย คิดเป็นโฉนดที่ดินกว่า 2 หมื่นฉบับ, โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ
II. นโยบายเรื่องที่อยู่อาศัย
ที่มีหลายคนชื่นชมเห็นจะเป็นโครงการแก้ปัญหาชุมชนแออัดริมคลองลาดพร้าว, คลองเปรม ที่สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว และทำให้สภาพความเป็นอยู่ริมคลองเหล่านี้ดีขึ้น
III. นโยบายด้านการคมนาคม
ซึ่งเห็นจะเป็นเหล่าบรรดาโครงการระบบราง เชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่ ตลอดจนการเร่งรัดการมอเตอร์เวย์ต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการปลดธงแดง ICAO อีกด้วย
IV. การผลักดันด้านข้อกฎหมาย
ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2561-2562 นี้ รัฐบาล คสช. ผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่ , พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่นำไปสู่การปลดล็อกไม้มีค่า, พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และอีกหลายฉบับ ที่มีจำนวนไม่น้อยถือได้ว่า เป็นการยกเครื่องกฎหมายในบ้านเราให้ทันสมัยมากขึ้น
V. นโยบายอื่นๆ
เช่น การยกเลิกใบเหลือ IUU เพื่อแก้ปัญหาการประมงของประเทศไทย ทำให้ได้รับการยกระดับจากเทียร์ 2 , นโยบายการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้น, นโยบายการแก้ไขปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ปัญหา “สุดยี้” แห่งรัฐบาล คสช.
นอกจากผลงานเด่นในรัฐบาล คสช. ก็ย่อมมีเรื่องราวที่ตรงกันข้ามอยู่เสมอ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาล คสช. เองก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากจากปัญหาความไม่โปร่งใสในการทำงานหลายประการด้วยกันเช่น
อุทยานราชภักดิ์ ในช่วงปลายปี 2558
ซึ่งปัญหาของการดำเนินการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในช่วงปลายปี 2558 นั้น เต็มไปด้วยข้อสงสัย เคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาแถลงผลการตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่ดูจะยิ่งที่ให้เสียง “ยี้” ดังขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า เป็นการตรวจสอบกันเองภายใน ไม่ต่างจาก อัฐยายกินขนมยายเท่าใดนัก
ประชุม-ดูงาน “ฮาวาย”
ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวสุดยี้ หลังทริปดูงานของกระทรวงกลาโหม ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้าน เช่าเครื่องบินเหมาลำไปดูงานที่ฮาวาย เป็นระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 29 ก.ย. – 2 ต.ค. 59 ซึ่งแม้ว่าจะมีการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม
ตำนานของการยืมนาฬิกาเพื่อน
ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูจะเป็นเต็งหนึ่งที่ถูกจับจ้องเสมอมา โดยเฉพาะปมนาฬิกาหรู จำนวนกว่า 20 เรือน ที่อ้างว่า “ยืมเพื่อนมา” ซึ่งแม้ว่า ป.ป.ช. จะไม่ชี้มูลความผิดที่เกิดขึ้น แต่ประเด็นนี้ คงยังเป็น “ปมคาใจ” ให้กับอีกหลายฝ่าย
จาก คสช. สู่ ครม. ประยุทธ์ 2
แม้ว่า การเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ผ่านมา จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม แต่ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสายตาของประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างมองว่า รัฐบาล ประยุทธ์ 2 นั้นเป็นร่างใหม่ ที่สืบทอดอำนาจเดิมของ คสช. แม้ว่าจะไร้ซึ่ง “ม.44” แล้วก็ตาม แต่ยังคงเหลือ ร่างทรงทางการเมืองไว้อีกไม่น้อยผ่านทางสภาสูง ที่หลายฝ่ายต่างมองว่า เป็น “สภาพี่น้อง” เป็นต้น
นับจากเวลานี้ไป คือ ครม. ประยุทธ์ 2
หลังจากที่เมื่อวานนี้ ( 15 ก.ค. ) พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงอำลาจากตำแหน่ง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” และในวันนี้ ( 16 ก.ค. ) คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ก็จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในแบบที่ “ไร้ ม. 44”
ดังนั้น สถานะของครม. ชุดใหม่ที่เกิดขึ้น อาจจะเรียกได้ว่า เป็น ครม. สายล่อฟ้า ชุดหนึ่งเลยก็ว่า ได้ เนื่องจากรายชื่อรัฐมนตรีหลายราย ก็เป็นชื่อเดียวกับรัฐบาล คสช. ที่ฝ่ายค้านในตอนนี้ ต่างหมายมั่นปั้นมือว่า จะได้เปิดอภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
25 ก.ค. 2562 ที่จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ มั่นใจได้เลยว่า จะเป็นการเปิดสภาที่ดุเดือด เข้มข้นอย่างแน่นอน ดังนั้นคอการเมืองไม่ว่ารุ่นเก่า รุ่นใหม่ คงต้องเตรียมพร้อมสำหรับติดตามความดุเดือดของการแถลงนโยบายที่ฝ่ายค้าน คงมีเรื่องที่ต้อง “คุยกันยาว” เลยทีเดียว
อ้างอิง
– ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
– เจตนารมย์ และนโยบายของ หน.คสช.