ประเด็นน่าสนใจ
- ก่อนหน้านี้มีกรณีการกระทำผิดของข้าราชการ ทั้งเรื่องชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศ
- แต่พบว่าการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการ ยังไม่มีความชัดเจน
- ล่าสุด ครม. เห็นชอบตาม ก.พ. หากพบข้าราชการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง โดยมีหลักฐานชั้นต้นเพียงพอ ก็ควรให้ออกจากราชการไว้ก่อน
จากกรณีการกระทำผิดของข้าราชการ ทั้งเรื่องชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศ และการใช้สื่อออนไลน์ในการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัยและจริยธรรมร้ายแรง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า มาตรฐานการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการประเภทต่างๆ ยังมีความแตกต่างกัน
ทั้งในเรื่องการนำมาตรการทางการบริหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางวินัย ตลอดจนมาตรฐานการลงโทษที่ลักลั่นกัน ส่งผลให้การดำเนินการขาดประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการดำเนินการทางวินัยที่ว่า “ยุติธรรม เป็นธรรม รวดเร็ว” ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ
- (1)ผู้บังคับบัญชาไม่นำมาตรการทางการบริหารมาใช้ดำเนินการหรือละเลยไม่ติดตาม
- (2)ผู้ปฏิบัติงานส่วนราชการ อาจขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการดำเนินการทางวินัย
- (3)ผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการระดับสูง อาจมีอิทธิพลต่อคณะกรรมการสอบสวน พยานบุคคล หรือผู้ให้ข้อมูล ทำให้เป็นอุปสรรคในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- (4)บางเรื่องมีความซับซ้อน เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับ ต่างกรม ต่างกระทรวง หรือมีพยานหลักฐานจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้า
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการทางวินัย และแก้ปัญหาความลักลั่นระหว่างการดำเนินการทางวินัยและมาตรฐานการลงโทษ ครม. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการทางการบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมข้าราชการเป็นมาตรฐานเดียว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยให้องค์กรการบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ นำมาตรการทางการบริหารที่เกี่ยวข้องกับวินัยและจริยธรรมร้ายแรง มาใช้ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการ กรณีชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำการดังกล่าว เช่น
- การสั่งพักราชการ หรือ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
- การสั่งให้ประจำส่วนราชการ
- การสั่งสำรองราชการ หรือการสั่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่มีอยู่
ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย
นอกจากนี้ยังให้สำนักงาน ก.พ. จัดประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่างๆ เพื่อศึกษาวิเคราะห์กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เพื่อกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์กลาง ตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เช่น การนำมาตรการทางการบริหารมาใช้เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หากพบข้าราชการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง โดยมีหลักฐานชั้นต้นเพียงพอ ก็ควรให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ที่มา : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล