ประเด็นน่าสนใจ
- โลกออนไลน์ได้เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ถึงกรณีคดี ‘แพรวา 9 ศพ’ หลังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว ออกมาระบุว่ายังไม่ได้รับเงินเยียวยา
- ด้านรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุพร้อมช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุดังกล่าว ชี้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องขอให้ศาลขอหมายบังคับคดี เพื่ออายัดทรัพย์สินต่างๆ
- คดีนี้เฉพาะคดีแพ่งที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามกฎหมายแล้วจำเลยต้องชดใช้เงินภายใน 30 วัน
จากกรณี โลกออนไลน์ได้เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ น.ส.แพรวา ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553 แต่เวลาล่วงเลยผ่านมา 9 ปีแล้ว ผู้ก่อเหตุยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้รอดชีวิต
ล่าสุดวันนี้ 17 ก.ค.62 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ทราบว่าคดีนี้มีการฟ้องร้องในชั้นศาลจบกระบวนการแล้ว โดยเฉพาะคดีแพ่งที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บประมาณ 26 ล้าน 8 แสนบาท ซึ่งศาลได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามกฎหมายแล้วจำเลยต้องชดใช้เงินภายใน 30 วัน
แต่หากเลยเวลาแล้วไม่ชดใช้เงินให้ ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องขอให้ศาลขอหมายบังคับคดี เพื่อจะได้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ จากนั้นจึงนำเรื่องดังกล่าวไปยื่นต่อกรมบังคับคดี เพื่ออายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่พบ เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ หรือนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด ซึ่งกระบวนต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ทนายเข้าไปช่วยดำเนินการ หากผู้เสียหายไม่สะดวก หรือมีปัญหาการจ้างทนาย ก็สามารถร้องขอให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้ได้
ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหวังไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ไปนั้น ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และการชดใช้เงินให้กับโจทก์ในคดีนี้ ศาลได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหายนอกจากคนที่นำรถไปขับแล้ว เจ้าของรถ พ่อและแม่ของผู้ขับรถ ก็ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด ตามที่ศาลแพ่งระบุไว้ โดยคดีนี้มีกฎหมายระบุชัด มีผลบังคับคดีเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่คำพิพากษาศาลแพ่งถึงที่สุด คือเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าในระหว่างนี้ ทุกขั้นตอนการบังคับคดี ทั้ง 2 ฝ่ายยังสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ และทางกระทรวงยุติธรรมพร้อมเป็นตัวกลางในการช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าควรต้องคำนึงถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม กับความเสียหายที่เกิดขึ้นของครอบครัวผู้เสียชีวิตตลอด 9 ปี ที่ผ่านมาด้วย
ด้านนายวรัญญู เกตุชู หรือ ติน หนึ่งในผู้รอดชีวิตคดีอุบัติเหตุดังกล่าว บอกว่า เห็นใจฝั่งคู่กรณีมาตลอดและเข้าใจว่าเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเรื่องมันเกิดไปแล้ว ก็ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ หรือแสดงความจริงใจ ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตนมีโอกาสพบกับคนขับเพียงแค่ครั้งเดียว คือ เมื่อตอนไปเยี่ยมตนที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งครั้งนั้นก็ได้รับเงินหลักหมื่นบาท
.
หลังจากนั้นไม่เคยได้รับเงินเยียวยาใดๆ จากคู่กรณี ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปี คล้ายกับเห็นคู่กรณีประวิงเวลามาโดยตลอด แม้กระทั่งในการขึ้นศาลแต่ละครั้ง คนขับหรือแม้แต่ทนายความก็ไม่ปรากฎตัวในชั้นศาล ตรงข้ามกับตนและญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องคอยเดินทางไกลจากต่างจังหวัดเพื่อมาขึ้นศาล
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้ในคดีนี้ ก็ไม่ได้เรียกร้องเงินส่วนใดเกินเลย มีเพียงค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียโอกาสของมารดาเท่านั้น ยอมรับว่าเงินชดใช้ที่ศาลพิพากษา เทียบไม่ได้กับเงินที่ต้องจ่ายไป แต่ตนก็ยินยอม เพราะอยากให้เรื่องนี้จบ
ที่มา : Mono29