คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา’เลือกตั้ง62 ?’ ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง
วันที่ 21 ม.ค. 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘เลือกตั้ง62 ?’ ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิการทางการเมือง โดยภายในงานมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณะบดีฝ่ายวิจัย และบริหารวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการรัฐประหาร และการกำหนดวันเลือกตั้ง การเลื่อนเลือกตั้ง การสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร พร้อมทั้งยกตัวอย่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต รวมถึงกล่าวว่า การรัฐประหารในไทย ล้มเหลวจากการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายหลังจากทำรัฐประหารเลยนับแต่อดีต
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่างความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง ที่เคยเกิดขึ้นด้วยดังนี้
1.ความรุนแรงจากประเด็นการเลือกตั้ง ในกองทัพและประชาชน หัวคะแนนลอบสังหารกันเอง การใช้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในและนอกเครื่องแบบข่มขู่ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งเริ่มปรากฏกรณีนี้แล้วในช่วงใกล้เลือกตั้งของประเทศไทยครั้งล่าสุด
2.บัตรเลือกตั้งที่ทำให้เกิดความสับสน
3.การแบ่งเขตเลือกตั้งให้เกิดความได้เปรียบ เอื้อให้ผู้สมัครบางพรรค ซึ่งในสังคมไทยมีประวัติในเรื่องนี้ที่ดี และไม่เคยเกิดขึ้น
4.การโกงเลือกตั้ง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนจากกรณีของ จอมพล ป.โกงผลคะแนนเลือกตั้ง ด้วยการจัดฉากให้เกิดไฟดับขณะนับคะแนน และกลับชนะการเลือกตั้งได้ รวมถึงให้คนเดียวใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ้ำ ๆ การใช้บัตรเลือกตั้งที่กาไว้แล้วยัดใส่หีบ ซึ่งในปัจจุบันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะโดนคานด้วยการสังเกตการณ์จากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ
5.การใช้กลไกรัฐแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่น่ากลัวที่สุด และอาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงเรื่อง ‘หลุมดำทางการเมือง’ ที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้ความเห็นว่า หากมีการเลื่อนเลือกตั้งจนหลุดช่วงเวลาวันที่ 9 พ.ค. 2562 (ตามกรอบ 150 วัน ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560) ไปนั้น ได้ว่าถือเป็นการเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ทั้งหมด
และหากรัฐบาลถึงขั้นใช้มาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญ จะถือเป็นอภินิหารทางกฎหมายขั้นสุดยอด และหมายความว่ามาตรา 44 จะสามารถทำอะไรก็ได้ และอาจจะเข้าสู่ภาวะไม่มีกฏเกณฑ์ใด ๆมาควบคุมได้อีก แล้วถ้ามองย้อนกลับไปตัวอย่างที่มีให้เห็น ก่อนหน้านี้ ที่แม้แต่กฎเกณฑ์ของ คสช. ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกการยึดอำนาจโดยทหารของประเทศฟิจิ หรือ ‘ฟิจิโมเดล’ ที่ประเทศฟิจิมีเคยการยึดอำนาจและปกครองโดยรัฐบาลทหารเป็นเวลานานกว่า 8 ปี ซึ่งเป็นเวลานานพอที่จะทำให้ประเทศฟิจิเข้าสู่วัฒนธรรมของการปฏิวัติรัฐประหาร
ก่อนที่ในปี 2557 จะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งนำมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ สำหรับในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล คสช. มานาน 5 ปี ดร.สติธร ธนานิธิโชติหนึ่งในนักวิชาการที่ได้มาร่วมเสวนาในงานให้ความเห็นว่า ไทยเดินทางมาครึ่งทางของบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศฟิจิแล้ว
อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 (Bangkok International Student Conference 2019) เป็นงานที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมือง และการระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานประชุมวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการวิจัย และอภิปรายเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และระบอบประชาธิปไตย