ไข้เลือดออก

แพทย์เผย สถานการณ์ไข้เลือดออก ในกลุ่มเด็กนักเรียนยังน่าเป็นห่วง

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 6 กรกฎาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วย 44,671…

Home / NEWS / แพทย์เผย สถานการณ์ไข้เลือดออก ในกลุ่มเด็กนักเรียนยังน่าเป็นห่วง

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 6 กรกฎาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วย 44,671 เสียชีวิต 62 ราย

กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม)

พบรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 3,371 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่ที่พบเป็นนักเรียนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงขอเน้นย้ำถึงสถานศึกษา ศูนย์เด็กในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ในการสนับสนุนให้สถานศึกษาในชุมชนมีความปลอดภัย ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอันเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน สถานศึกษา ศูนย์เด็ก ประการแรก คือการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดขยะในอาคารเรียน โรงอาหาร อาคารกิจกรรม ห้องพักครู ทำลายแหล่งน้ำขังในเศษภาชนะ ขยะพลาสติก โฟม ยางรถยนต์ กระถางต้นไม้เก่า และทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง

สำรวจภาชนะเก็บน้ำใช้ เช่น ถัง โอ่ง แทงค์น้ำในห้องสุขา ขัดล้างทำความสะอาด และเปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทรายอะเบทให้ทั่วทุกภาชนะ ประการที่สองคือ เฝ้าระวังอาการป่วยทั้งในกลุ่มเด็กนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่อื่นในโรงเรียน ได้แก่ แม่บ้าน คนสวน แม่ครัว นักการภารโรง

หากบุคคลกลุ่มนี้มีอาการไข้เฉียบพลันและไข้สูงลอยเกินกว่า 2 วัน รวมทั้งมีผื่น หน้าแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ต้องแนะนำให้รีบเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลและแจ้งสถานพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบทันที ห้ามครูฝ่ายพยาบาลจ่ายยาแก้ปวดลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไฟริน (โดยดูได้ที่ฉลากยา) ยาลดการอักเสบในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบรูโปเฟน

และหากพบว่ามีเด็กนักเรียนลาป่วยเกินกว่า 2 วัน ควรติดตามสอบถามอาการจากผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาว่าป่วยด้วยอาการของโรคไข้เลือดออกหรือไม่ และควรประชาสัมพันธ์ในชั้นเรียนย้ำในกลุ่มนักเรียนทุกระดับชั้น ให้ป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน คือ

1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง

2.การเฝ้าระวังอาการของโรค คือไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง

3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422