วันนี้ ( 20 ก.ค. 62 ) ที่ สถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมประเพณีรับน้องรถไฟ ปีการศึกษา 2562 ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่จะติดอยู่ในความทรงจำภายใต้สโลแกน “ความทรงจำระหว่างทาง” ไปกับเราสถานีรถไฟเชียงใหม่
โดยมีผู้ปกครองและญาติเพื่อนพี่น้องมาร่วมส่งบุตรหลาน ในกิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมครั้งแรกๆ ที่รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบเจอกัน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาราว 15 ชั่วโมง และยังมีเพื่อนฝูงและผู้ปกครองมาส่งรุ่นน้อง ทำให้บรรยากาศที่สถานีกรุงเทพในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แสดงความยินดีการได้เริ่มต้นการเป็นนักศึกษา
ทั้งนี้กิจกรรมประเพณีรับน้องรถไฟ มีคณะที่ร่วมเดินทางประกอบด้วย คณะการสื่อสารมวลชน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
โดยในเวลา 15.00 น. เริ่มออกเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟลพบุรี สถานีรถไฟนครสวรรค์ สถานีรถไฟพิษณุโลกและสถานีรถไฟลำปาง ในแต่ละสถานีที่ขบวนรถไฟเคลื่อนผ่านจะจอดประมาณ 20 นาที โดยนักศึกษาใหม่จะได้สัมผัสบรรยากาศความอบอุ่นของลูกช้างที่จะมีศิษย์เก่า รุ่นพี่ นำน้ำดื่ม ขนม อาหารและรอยยิ้ม ร่วมให้กำลังใจ รอส่งน้องๆ ในแต่ละจังหวัด เพื่อเดินทางสู่มหาวิทยาลัย
สำหรับกิจกรรมรับน้องรถไฟ เป็นกิจกรรมหนึ่งของการรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีประจำปีอย่างหนึ่ง ที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะ จะมาต้อนรับนักศึกษาใหม่(ที่สอบเข้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และอาศัยอยู่ใน กทม หรือพื้นที่ นอกเขตภาคเหนือ)
โดยจะเริ่มต้นกิจกรรมนี้กันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงโดยปกติ จะเหมารถไฟ ชั้น 3 ทั้งขบวน(ทั้งหมดหลายขบวน) โดยแบ่งตู้รถไฟ กันตามคณะและจำนวนของ รุ่นพี่และรุ่นน้อง ในคณะนั้นๆ โดยรุ่นพี่ ของแต่ละคณะ ก็จะเตรียมกิจกรรมและเกมส์ต่างๆ มีการสอนร้องเพลงประจำแต่ละคณะ มาให้รุ่นน้องได้ทำกิจกรรมบนรถไฟ เกือบตลอดทั้งคืน ที่รถไฟ วิ่งมุ่งหน้าไปยัง เชียงใหม่
ซึ่งโดยปกติ เมื่อไปถึงเชียงใหม่แล้ว รุ่นพี่จะพาน้องใหม่ ไปไหว้พระ ที่ศาลาธรรม เป็นเหมือนการรับขวัญ น้องที่มาใหม่จากแดนไกล หลังจากนั้น รุ่นพี่ก็จะพาน้องใหม่ เข้าไปพักตามหอพักนักศึกษา(หอใน)ที่น้องใหม่จองไว้ ตั้งแต่วันที่มาปฐมนิเทศ
กิจกรรมรับน้องรถไฟเป็นกิจกรรมครั้งแรกๆ ที่รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบเจอกัน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาราว 15 ชั่วโมง และยังมีเพื่อนฝูงและผู้ปกครองมาส่งรุ่นน้อง ทำให้บรรยากาศที่สถานีหัวลำโพงในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แสดงความยินดีการได้เริ่มต้นการเป็นนักศึกษา นักศึกษาจะได้แจกบัตรคล้องคอ (หรือติดเสื้อ) เขียนชื่อเล่นแต่ละคนเอาไว้ รุ่นน้องนั้น มักจะถูกเรียกว่า “ลูกช้าง” เพราะ ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2549 งานรับน้องรถไฟได้ถูกยกเลิกในปีนั้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในบริเวณภาคเหนือ ทำให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย เส้นทางรถไฟไม่สามารถใช้ได้ และในปี พ.ศ. 2553 งานรับน้องรถไฟได้ทำการย้ายสถานที่จากสถานีรถไฟหัวลำโพงมายังสถานีรถไฟรังสิต
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสถานีปลายทางจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ เป็นสถานีรถไฟสารภี เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการก่อจลาจลในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 แต่ปัจจุบันกิจกรรมรับน้องรถไฟก็ยังคงมีอยู่ เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม อันเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างดี