ประเด็นน่าสนใจ
- นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี 11 ราย แจ้งยกเลิกกำหนดการเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ในวันนี้
- หลังมีรายงานว่า กลุ่มประเทศ EU มีผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือด และมีการสั่งระงับการใช้งานวัคซีนดังกล่าวออกไปก่อน
- ทาง สธ. ยืนยันการเลื่อนฉีดวัคซีนในครั้งนี้ เพื่อรอฟังผลการตรวจสอบที่แน่ชัดก่อนว่าสาเหตุเกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด ของแอสตราเซเนกา จริงหรือไม่
วันนี้ (12 มี.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี 11 ราย แจ้งยกเลิกกำหนดการเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ในเวลา 09.00 น. วันนี้ ที่สถาบันบำราศนราดูร
ภายหลังมีรายงานว่าทางกลุ่มประเทศ EU มีผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือด โดยมีเดนมาร์ก ออสเตรีย เอสโตเนีย ลิธัวเนีย ลักแซมเบิร์ก ลัตเวีย และอิตาลี ที่ได้มีการสั่งระงับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง
ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวชี้แจงกรณีวัคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา โดยทาง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เปิดเผยว่า จากรายงานเมื่อคืนของทางประเทศเดนมาร์ก พบผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือด จึงได้มีการประกาศชะลอการฉีดวัคซีนดังกล่าวออกไปก่อน เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปได้มีการสั่งระงับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เช่นกัน
ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทีมคณะแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา เนื่องจาก สธ. ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนที่ปลอดภัย และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องรีบฉีด ถึงแม้ว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา จะมีประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย
แต่ขณะนี้เราต้องรอฟังผลการตรวจสอบของทางเดนมาร์ก และในกลุ่มประเทศยุโรปที่แน่ชัดก่อน ว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้น เกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด ของแอสตราเซเนกา จริงหรือไม่
ทางด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติซึ่งหากมีรายงานว่าพบผลข้างเคียง ก็จะมีการชะลอการหยุดวัคซีนออกไปก่อน เพื่อรอผลการตรวจสอบว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัคซีน รวมทั้งตัวยาต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวว่า ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนต่าง ๆ ย่อมมีโอกาสเกิดโรคไม่พึงประสงค์ หรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ กรณีการเกิดลิ่มเลือด จากข้อมูลพบว่าประชากรในฝั่งยุโรป และแอฟริกา มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดมากกว่า คนฝั่งเอเชียถึง 3 เท่า จึงมองว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องของโรคดังกล่าว
การฉีดวัคซีนในคนหมู่มาก ซึ่งมีการฉีดไปแล้ว 3 ล้านโดส แล้วปรากฏว่าพบผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 ราย ในจำนวนนี้พบผู้เสียชีวิต 1 ราย หากเทียบแล้วโอกาสการเกิดภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 7 ใน 1 ล้านราย ซึ่งก็ต้องไปสืบสวนว่าในภาวะปกติซึ่งคนสามารถเป็นภาวะลิ่มเลือดได้เช่นกัน กับผลจากการฉีควัคซีนนั้นมีค่าเฉลี่ยเป็นเช่นไร
ซึ่งหากพบว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือด จากการฉีดวัคซีน-19 ของแอสตราเซเนกา ก็ต้องไปหาสาเหตุอีกว่ากระบวนการใดของวัคซีนที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือด ในหลอดเลือดดำแข็งตัวเร็ว
ทั้งนี้การเลื่อนฉีดวัคซีนในครั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกาไม่ดี แต่เป็นการเลื่อนเพื่อดูสถานการณ์ เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นการชะลอเพื่อการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน