ประเด็นน่าสนใจ
- อธิบดีกรมชลประทาน เผยกรมชลประทานให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง
- พร้อมวางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง
จากสถานการณ์ฝนน้อยกว่าค่าปกติตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศลดน้อยลงตามไปด้วย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร นั้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศในขณะนี้ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง
โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังการบริหารจัดการน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และผลิตน้ำประปา ในส่วนของพื้นที่การเกษตรกว่า 160,000 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย นั้น จะเริ่มส่งน้ำแบบรอบเวร ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 62 เป็นต้นไป รวมทั้ง ได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ รถแบคโฮ และเครื่องสูบน้ำ ที่สามารถสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีด้วย
ที่จังหวัดสุรินทร์ โครงการชลประทานสุรินทร์ ได้นำรถบรรทุกขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน ออกแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ในพื้นที่หมู่บ้านการเคหะ อำเภอเมืองสุรินทร์
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในเขตอำเภอดอนเจดีย์ และ อำเภออู่ทอง สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง สูบน้ำจากปลายคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว ลงสู่คลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง บริเวณห้วยโตนด รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองระบายน้ำจากบึงกระจับอีก 4 เครื่อง สูบน้ำลงคลองมะขามเฒ่า–กระเสียว ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านจังหวัดนครสวรรค์ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง บริเวณโรงสูบน้ำเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับจัดรอบเวรการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 32,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 46,000 ไร่ โดยพื้นที่ที่เหลือได้ทำการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน จนกว่าฝนจะตกลงมาตามฤดูกาลปกติ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและจริงจังด้วย เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภคให้ยาวนานที่สุด
ขอบคุณ : กรมชลประทาน