ประเด็นน่าสนใจ
- เลขาฯ อนาคตใหม่ สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นต้นเหตุของทุกปัญหา
- ชี้แนวคิดนี้ไม่ได้ล้มล้างสิ่งใด แต่อยากให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง
- วอนรัฐบาลอย่านำการปกป้องสถาบันมาโจมตีการเมือง
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาจบลง นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็ได้เปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงข้อสงสัยในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงเสร็จสิ้นไปตามลำดับ
ซึ่งการอภิปรายดังกล่าว ไฮไลท์อยู่ที่คิวการลุกขึ้นพูดของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เขาขอใช้สิทธิ์พูดแทนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
โดยนายปิยบุตร ได้ตั้งข้อสงสัยในนโยบายของรัฐบาลว่า เป็นการกำหนดขึ้นมาแบบหลวมๆ เท่านั้น ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะการเป็นฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก็คงจะผลักดันได้แค่นโยบายเฉพาะหน้า และคงทำได้แค่เพียงอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเท่านั้น นโยบายสำคัญๆ คงไม่สามารถผลักดันได้
พร้อมกันนี้นายปิยบุตร ยังได้กล่าวถึงนโยบายเรื่องสถาบันด้วย ว่า ขอฝากถึงรัฐบาลไม่อยากให้การปกป้องสถาบันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องประกอบด้วย 4 ประเด็นด้วยกันคือ
- สถาบันฯ
- ระบบประชาธิปไตย
- ระบบรัฐสภา
- เสรีภาพ ปชช.
ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นที่กล่าวมา รัฐบาลต้องปรับสมดุลให้ได้ แต่อย่าใช้การรัฐประหารเป็นวิธีในการปรับสมดุล ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในหลายเรื่อง
โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว.250 คน ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจเหนือกว่า ส.ส. ซึ่งมาจากเสียงของประชาชน และถ้าหากแก้ไขไม่ได้ก็ควรนำรัฐธรรมนูญ ปี 40 กลับมาใช้ใหม่ และยกเลิกรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองนี้ทิ้งไป
โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มีความคิดรุนแรง หรือต้องการล้มล้างสิ่งใด เพียงแต่ต้องการเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ให้มันถูกต้อง เป็นมาตรฐาน และเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป และ ส.ส.อนาคตใหม่ทั้ง 81 ชีวิต พร้อมให้ความร่วมมือทุกๆ ฝ่ายในการนำประชาธิปไตยกลับคืนมา พร้อมแสวงหาอนาคตใหม่ๆ ร่วมกัน
ขอบคุณนายกฯ ที่นั่งฟัง ซึ่งสอบถามถึงการปฏิญาณตนของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือยัง ขอให้ชี้แจงด้วย
นโยบายของรัฐบาลเลื่อนลอย มีระบุไว้ แต่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในรายละเอียดแต่อย่างใด เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้กล่าวถึง แต่ไม่ได้ระบุว่า จะแก้ไข ดำเนินการอย่างไร ซึ่งส.ส.ทั้งหมดอยากทราบว่า ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่างหาก
ประเด็นของการแก้ปัญหายาเสพติดและชายแดนใต้ ควรแยกออกจากกัน เพราะเมื่อมารวมกันทำให้มันเข้าใจผิดได้ว่า ปัญหายาเสพติดมีแต่เพียงภาคใต้หรืออย่างไร ซึ่งนโยบายทั้งหมด ไม่ได้ระบุความชัดเจนในการดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายโลเล เช่น การทวงคืนพื้นที่ผืนป่า กับสนับสนุนให้ ปชช. อยู่ร่วมกับป่า ซึ่งสุดท้ายอยู่กันคนละทิศคนละทาง จะประสานกันได้อย่างไร นอกจากนี้นโยบายสนับสนุนการศึกษา แต่ให้มีการดำเนินการเรื่องหนี้กยศ.
ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บ. ของ พปชร. , การยกเว้น-ลดภาษี ที่ไม่มีระบุไว้ในนโยบาย ภูมิใจไทย เรื่องของกัญชา ก็มีเพียงระบุว่า ให้นำมาศึกษา แต่ที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะให้ปลูกได้ เป็นต้น’
ต้นตอของปัญหา มาจากการมี ส.ว. 250 คน ทำให้รัฐธรรมนูญออกแบบมาแบบนี้ ทำให้แต่ละพรรค จึงต้องเข้าไปร่วมในแนวทางนี้ ทำให้นโยบายจึงต้องออกมาหลวมๆ ไม่ชัดเจน
โดยสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลและประเทศไทย เสียโอกาสในการแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง