ประเด็นน่าสนใจ
- ป.ป.ส. ลงพื้นที่ติดตามการวิจัยการเพาะปลูก ‘กัญชง’ ที่สถานีเกษตรหลวงปางตะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ด้านนักวิจัยเผยหวังว่าทาง อ.ย. จะอนุญาตให้นำเมล็ดของกัญชงมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากมองว่าหากนำแต่เส้นใยกัญชงมาแปรรูปอย่างเดียวอาจไม่คุ้มค่า
วันนี้ (25 ก.ค.62) ที่สถานีเกษตรหลวงปางตะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ได้ลงพื้นที่ติดตามการวิจัยการเพาะปลูก ‘กัญชง’ (Hemp) ศึกษาแปลงงานวิจัยการเพาะปลูกกัญชง โดยนำคณะสื่อมวลชลรวมเข้าตรวจเยี่ยม
โดยนายวาทิน ดำรงเลาหพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า กัญชง เป็นพืชชนิดย่อยของกัญชา ซึ่งถูกจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เนื่องจากเส้นใยของกัญชงมีประโยชน์ มีความเหนียวสามารถนำมาทำเป็นสิ่งทอได้ จึงเป็นช่องทางที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ
กระทั่งมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 12 ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชา ซึ่งได้รับการยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์จากเปลือกแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้กับการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชง แต่ยังมีการจำกัดพื้นที่ในการเพาะปลูกภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยหากดูตามข้อกฎหมายแล้ว สาร CBD ทั้งในกัญชงและกัญชา ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนสาร THC เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ซึ่ง ผิดกฎหมาย โดยในกัญชงมีสาร THC ที่ต่ำกว่าเกิน ซึ่งในทางกฎหมายได้มีการผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่มีข้อจำกัดว่าสามารถนำเส้นใยของต้นกัญชงมาแปรรูปได้อย่างเดียว โดยนำมาผลิตเป็นสิ่งทอต่างๆ อาทิ หมวก เสื้อผ้า ผ้าห่ม
ทางด้านดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า ทางเราได้เริ่มวิจับกัญชงมาตั้งแต่ปี 61 โดยมีการรวบรวมพันธุ์กัญชงเฉพาะในประเทศไทย และอยู่ระหว่างการขออนุญาตนำพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชง ให้มีสาร CBD สูง แต่สาร THC ต่ำ โดยสามารถนำสาร CBD ในกัญชงไปสกัดเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้อย่างเติมประสิทธิภาพ
จากการวิจัยพบว่าประโยชน์ของเส้นใยต้นกัญชง มีความเหนียวและสามารถแปรรูปไปเป็นสิ่งทอได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำประโยชน์ของเส้นใยกัญชงต่อยอดในเรื่องของไบโอพลาสติก โดยการดึงจุดเด่นของเส้นใยกัญชงที่เหนียวและแข็งแรงมาทำพลาสติกแบบชีวภาพ รวมทั้งนำมาใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในวัสดุก่อสร้างต่างๆได้
และในส่วนของเมล็ดกัญชง จากการวิจัยยังพบว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 25% และน้ำมันอีกประมาณ 20 % และยังพบอีกว่าในน้ำมันมีสารโอเมก้าสูงถึง 80 % ซึ่งต่างประเทศที่กฎหมายรองรับนั้นนิยมทานสารสกัดจากเมล็ดกัญชงมานานแล้ว โดยแปรรูปออกไปได้ทั้งในแบบแคปซูลหรือแบบผงชงดื่ม
สำหรับในประเทศไทยคาดหวังว่าในเร็วๆนี้ ทาง อ.ย. จะอนุญาตให้มีการนำเมล็ดกัญชงมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากหากนำแต่เพียงเส้นใยของกัญชงมาแปรรูปอย่างเดียวนั้น อาจจะยังไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร