กัญชง ชาวม้ง ชาวเผ่าม้ง บ้านแม่สาน้อย เส้นใยกัญชง

ความผูกพันของ ‘เส้นใยกัญชง’ กับชาวเผ่าม้งแม่สาน้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘กัญชง‘ เป็นพืชในตระกูลชนิดเดียวกับ ‘กัญชา‘ โดยจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กระทั่งมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 12 ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชา โดยได้รับการยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง…

Home / NEWS / ความผูกพันของ ‘เส้นใยกัญชง’ กับชาวเผ่าม้งแม่สาน้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘กัญชง‘ เป็นพืชในตระกูลชนิดเดียวกับ ‘กัญชา‘ โดยจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กระทั่งมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 12 ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชา

โดยได้รับการยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์จากเปลือกแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้กับการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชง แต่ยังมีการจำกัดพื้นที่ในการเพาะปลูกภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

บ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 10 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใน 15 อำเภอที่ทางหน่วยงานภาครัฐอนุญาตให้มีการเพาะปลูกกัญชง เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยกัญชงก่อนจะนำไปผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้านของชนเผ่าม้งแห่งนี้

วิถีชีวิตของ ‘ชาวเผ่าม้ง’ บ้านแม่สาน้อย จ.เชียงใหม่

บ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 10 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีอยู่ด้วยกัน 2 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 110 หลังคาเรือน วิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ จะเน้นการปลูกผักเมืองหนาวเกือบทุกชนิดที่ส่งขายตามท้องตลาด ทั้งในตัวเมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

สำหรับ ‘กัญชง’ นั้น ถ้าในสมัยก่อนกือบทุกหลังคาเรือนจะมีการปลูกกัญชง แต่พอมีกฎหมายควบคุมทำให้ชาวบ้านไม่กล้าปลูก แต่ปัจจุบันที่มีการปลูกได้ เนื่องจากมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านและไปขออนุญาตจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยปลูกครั้งละ 1-2 ไร่ ซึ่งกลายเป็นอาชีพเสริมสำหรับชาวบ้านในการนำเส้นใยกัญชงมาสานเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มต่างๆ

ความผูกพันของ ‘กัญชง’ กับชาวเผ่าม้งแม่สาน้อย

นายเกษม ถนอมวรภูมิ ชาวบ้านเผ่าม้ง บ้านแม่สาน้อย

ชาวม้งมีความเชื่อว่า ไม่ว่าวาระสุดท้ายของชีวิตไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มันต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็น ‘กัญชง’ ในบ้างครั้งก็อาจจะนำเส้นใยกัญชงมาทำหมวกไว้ใส่ สำหรับคนที่เสยชีวิต บางบ้านที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยก็อาจทำเสื้อหรือกระโปรงไว้ชุดหนึ่งให้สวมใส่ ซึ่งชาวม้งเชื่องว่าการนำเส้นใยกัญชงติดตัวไว้กับผู้ที่เสียชีวิตในหมู่บ้านจะได้ไปพบกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

‘กัญชง’ จึงเป็นความเชื่อและความผูกพันของชาวม้งที่เราไม่สามารถจะทิ้งได้ แม้จะผิดกฎหมายแต่เราก็จะทำเล็กๆน้อยๆ บางบ้านสะสมผ้าที่ทำจากใยกัญชงมานานเกือบ 100 ปี โดยในแต่ละบ้านจะมีการเตรียมเส้นใยกัญชงให้กับลูกๆทุกคน เพื่อให้นำติดตัวไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ซึ่งหากในอนาคตทางหน่ายงานภาครัฐเปิดโอกาสอย่างเต็มตัว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับชาวม้งบ้านแม่สาน้อย ที่จะนำเส้นใยกัญชงมีแปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่มสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน” นายเกษม ถนอมวรภูมิ ชาวบ้านเผ่าม้ง บ้านแม่สาน้อย กล่าว

จาก ‘กัญชง’ สู่ ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่มห่มสิ่งทอ

กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่ง ‘เส้นใยกัญชง‘ นั้น ต้องใช้กระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งหลังจากที่ปลูกกัญชงจนต้นได้ขนาดแล้ว ชาวบ้านจะตัดต้นและยอด มีขนาดตั้งแต่ 1-2 เมตร หลังจากตัดเสร็จแล้วก็จะนำไปตากแดดเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อต้นกัญชงแห้งได้ที่แล้วก็จะนำมาลอกเปลือกออก และนำไปตำให้เส้นใยเกิดความเหนียวนุ่ม ก่อนจะนำแต่ละเส้นทางต่อกัน ซึ่งความยาวที่ต่อกันอาจมีขนาด 1,000-1,500 เมตร

จากนั้นจะนำเส้นใยไปต้มน้ำที่ผสมกับขี้เถ้าก่อนจะย้อมด้วยสีธรรมชาติ หลังจากนั้นก็จะนำไปม้วนให้เป็นก้อนเพื่อให้ง่ายตอนการที่จะไปให้สานต่อ หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะนำเส้นใยไปทอแปรรูปงานออกไปได้หลากหลายชนิด อาทิ เสื้อผ้า กระโปรง หมวก ฯลฯ โดยจะมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน

ความกังวลของชาวม้ง หากหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลเรื่อง ‘เมล็ดกัญชง’

นายเกษม ชาวบ้านเผ่าม้ง เปิดเผยว่า สิ่งที่ชาวบ้านกังวลอยู่ ณ ขณะนี้ คือเรื่อง ‘เมล็ดกัญชง’ หลังหน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมที่จะพัฒนาสายพันธุ์กัญชง ซึ่งกังวลว่าอาจกระทบต่อเมล็ดที่จะนำมาเพาะปลูกภายในหมู่บ้าน

เนื่องจากทางชาวบ้านต้องนำเมล็ดพันธุ์ จากหน่วยงานรัฐมาเพาะปลูก ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขั้นตอนการลอกเปลือกนั้นเริ่มทำการลอกเปลือกยากขึ้น จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านกำลังกังวลอยู่ในตอนนี้ เพราะขั้นตอนการทำเส้นใยของชาวบ้านยังคงเป็นวิถีชีวิตแบบเดิม แต่หากมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้โดยใช้เมล็ดที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว ก็มองว่าชาวบ้านยังคงนำเส้นใยกัญชงมาผลิตเป็นสิ่งทอได้อย่างต่อเนื่อง

ป.ป.ส. ยืนยันการพัฒนา ‘เมล็ดพันธุ์กัญชง’ จะไม่ทบวิถีชาวม้ง

นายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธืการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า การวิจัยในเรื่องกัญชง ณ ขณะนี้ จะแบ่งได้ 2 ประเด็นใหญ่คือ การพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเอาเส้นใย กับการพัฒนาเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์แต่ไม่เอาเส้นใย

ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีการอนุญาตให้หน่วยงานราชการเพาะวิจัยได้ แต่ต้องมีการนำเมล็ดพันธุ์มาจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ โดยต้องได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร โดยตอนนี้มี 4 สายพันธุ์ ในมีการทดลองเพาะวิจัยกันอยู่

ส่วนขอกังวลของชาวบ้านในเรื่องของการกลายพันธุ์เมล็ด ที่เมื่อนำมาปลูกแล้วไม่สามารถลอกเปลือกเพื่อนำไปแปรรูปได้นั้น มองว่าไม่น่าเป็นข้อกังวลแต่อย่างใด เพาะมองว่าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จะต้องทำการพัฒนาวิจัยเมล็ดพันธุ์เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์อยู่แล้ว อาทิหากต้องการนำเมล็ดไปสกัด ก็อาจจะต้องใช้สายพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจง หรือแม้แต่ในส่วนของการใช้เส้นใยก็คาดว่าจะมีเมล็ดพันธุ์ที่รองรับความต้องการของชาวบ้านอยู่แล้ว

แม้ปัจจุบันข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวข้องกับ ‘กัญชง’ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งข้อจำกัดในการปลูก หรือแม้กระทั่งพื้นที่ในการปลูก แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั่งเดิมของชนเผ่าม้งได้ เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 10 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่พวกเขายังยึดถือขนบธรรมเนียมตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น…..

บทความโดย : ธเนตร พุทธิตระกูล / ภาพ : วิชาญ โพธิ