การเมือง

จากสภากาแฟสู่สภาโซเซียล การเมืองไทยในขวดใหม่ -โต๊ะข่าวการเมือง

หากนับจากวันที่มีการเปิดประชุมสภาเผื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ครบรอบ 7 วันแล้วของการเปิดสภาครั้งแรก หลังจากห่างหายไปกว่า 5 ปี หลังการรัฐประหารของคสช. แม้ 5 ปีจะผ่านไป แต่สถานการณ์การเมืองไทยยังคงดุเดือดเหมือนวันวาน…

Home / NEWS / จากสภากาแฟสู่สภาโซเซียล การเมืองไทยในขวดใหม่ -โต๊ะข่าวการเมือง

ประเด็นน่าสนใจ

  • ภาพความวุ่นวายในการประท้วง เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ในการเปิดสภาฯ ครั้งแรก เป็นเรื่องคุ้นตาคอการเมือง
  • ประธานสภาฯ ขอให้หยุดปรบมือ ก็เคยมีมาก่อนแล้ว
  • เทียบเชิญร่วมรัฐบาล, แบ่งโควต้าเก้าอี้ มีให้เห็นแทบทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง
  • ดาวสภา จะมีแจ้งเกิดอยู่เป็นระยะๆ

หากนับจากวันที่มีการเปิดประชุมสภาเผื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ครบรอบ 7 วันแล้วของการเปิดสภาครั้งแรก หลังจากห่างหายไปกว่า 5 ปี หลังการรัฐประหารของคสช. แม้ 5 ปีจะผ่านไป แต่สถานการณ์การเมืองไทยยังคงดุเดือดเหมือนวันวาน คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น การถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นตามยุคสมัย

“สภากาแฟ” สู่ “สภาโซเซียล”

ผ่านไป 5 ปีหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี 57 การเมืองไทยอยู่ในสภาวะที่ห้างหายไปจากการอภิปราย การเปิดประชุมสภา ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น โลกดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมากขึ้นเรื่อย พร้อมกับการห่างกายไปของสภากาแฟในยามเช้า ที่สมัยก่อนหลายคนตุ้ยเคยกับภาพคนมานั่งร้านกาแฟ พร้อมกาแฟ ไข่ลวก ปาท่องโก๋ และนั่งถกเถียงกันในประเด็นการเมือง

วันนี้ การเมืองไทยกลับมีอีกครั้งในมุมที่ต่างไปตามโลกดิจิทัล ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับการเมืองได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นจนเทียบจะ เรียลไทม์ กาแฟ-ไข่ลวกในมือถักเปลี่ยนเป็นมือถือ หนังสือพิมพ์บนโต๊ะกลายเป็น ไลฟ์ต่างๆบน เฟซบุ๊ก และสิ่งที่ถูกเถียงกับย้ายมาอยู่บนโลกโซเซียล

แต่… การเมืองไทยยังเหมือนเดิม

ภาพของการประท้วงในสภายังเหมือนเดิม

เมื่อวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤษภา ที่ผ่านมา เพียงแค่ชั่วโมงแรกของเปิดสภา เราก็ได้เห็นการประท้วงกันวุ่นวาย ในจังหวะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นจับไมค์ หลังจากประธานสภาฯ ขอให้ออกจากห้องประชุม ซึ่งหลังจากนายธนาธรกล่าวเสร็จเรียบร้อย ก็ได้รับเสียงปรบมือดังไปทั้งห้องประชุม จนท่านประธานสภาฯ นายชัย ชิดชอบกล่าว เปรียบเปรยว่า ที่นี่สภาฯ ไม่ใช่โรงละคร ไม่ต้องปรบมืออะไรขนาดนั้น

บันทึกการประชุมสภาฯ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อปี 2526
ประธานฯ ท้วงเรื่องการปรบมือว่า “ที่นี่ไม่ใช่สนามกีฬา”

การประท้วง โหวกเหวกตัวเกิดขึ้น หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพิ่งได้เคยดูการอภิปรายครั้งแรก แน่นอนย่อมรู้สึกอย่างที่เห็น แต่ถ้าคอการเมืองรุ่นเก่าแล้วจะนึกถึงวันเก่าๆ ที่รัฐสภา มีการถกเถียง – ยกมือประท้วง – ตะโกนออกมา แม้ว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมาจะดูมีเสียงแทรกมาตลอด แต่ต้องเข้าใจว่า สถานที่ตอนนี้ เป็นเพียง “รัฐสภาชั่วคราว” ที่ประธานสภาฯ ชั่วคราวจึงไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากนัก เช่นเรื่องของการปิดไมค์ ของ ส.ส. ได้ ดังนั้นสภาพความวุ่นวาย ก็อย่างที่เห็นกัน

ในวันเดียวกัน การยกมือประท้วงขอให้ถอน คำว่า “งูเห่า” โดยอ้างว่า เป็นการกล่าวพาดพิง กล่าวหา รวมถึงการกล่าวว่า หากในสภานี้มีงูเห่า เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ บ้างแล้วแต่ไม่ใช่ครั้งแรกทั้งสิ้น หากเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนผู้ประท้วงไปเท่านั้นเอง

การใช้โวหาร การเสียดสีกัน ยังเหมือนเดิม

หลังจากประท้วง ในประเด็นคะว่า “งูเห่า” ก็ได้มีการถอนคำพูด โดยกล่าวถอนคำพูดจาก “งูเห่า” เป็น ” อนาคอนด้า”, “เลอะเทอะ” เป็น “สกปรกมาก” จนเป็นประเด็นก็ไลค์ กดแชร์กันมากมาย ทั้งจากฝ่ายที่ชื่นชอบ และไม่เห็นด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา

บันทึกการประชุมสภาฯ ในช่วงปี 2533 ที่มีการประท้วงขอให้ถอนคำพูดว่า “บ้าๆ บอๆ”

หากเราย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ของการเปิดสภาฯ ครั้งหนึ่งในประวัติเท่าที่ผู้เขียนเคยได้อ่านผ่านตาและจำได้ ในวันที่ 25 มีนาคม 2481 ได้มีการประชุมสภา ในญัตติของการเสนอให้วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญชาติ ในการอภิปรายนั้น นายอินทร สิงหเนตร ผู้แทนฯ จากเชียงใหม่ ได้ยกมืออภิปราย และกล่าวว่า

การที่ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญของชาตินั้นไม่เห็นด้วย เพราะวันนั้นหากผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองทำการไม่สำเร็จ ก็ต้องเป็น ‘วันกบฏ’ และเสนอความเห็นว่าควรเป็น ‘วันที่ 27 มิถุนายน’ เพราะเป็นวันที่ราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ

นายอินทร สิงหเนตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ , 25 มีนาคม 2481

แน่นอนว่า นายอินทร ถูกประท้วงจากผู้แทนฯ อีกจำนวนหลายท่านให้ถอนคำพูดดังกล่าวเสีย ซึ่งต่อมานายอินทร ก็ได้ขอถอนคำพูดดังกล่าว แต่สุดท้ายนายอินทร ถูกถอดจากความเป็นผู้แทนฯ หลังมีผู้ยื่นญัตติว่า คำพูดดังกล่าวมีเจตนามุ่งร้ายต่อระบบประชาธิปไตย และมีการลงมติด้วยคะแนน 113 ต่อ 15 ให้นายอินทร สิงหเนตรพ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2475 มาตรา 21 (5)

ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นดาวสภาในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มีสำนวน โวหาร วาทะต่างๆ ไปตามสไตล์ของตนเอง ซึ่งหลายคนเป็นที่คุ้นชื่อกันดีเช่น นายปิยะนัส วัชราภรณ์ อดีตดาวสภาชื่อดัง, ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง, นายสมัคร สุนทรเวช, นายชวน หลีกภัย เจ้าของฉายามีดโกนอาบน้ำผึ้ง และอีกหลายท่าน

เทียบเชิญพรรคร่วม – แบ่งโควต้าเก้าอี้ รมต.

ตลอด 7 วันที่ผ่านมา กระแสการเมืองไทยถือว่า มีประเด็นให้นักข่าวได้เล่นกันทุกวัน โดยเฉพาะการจับขั้วการเมือง การส่งเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล การแบ่งโควต้าเก้าอี้กระทรวงต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากในอดีตแต่อย่างใด

สกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อเดือนมิถุนายน 2538
(ที่มาจาก ห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ขั้ว-กลุ่มการเมืองและการแบ่งเก้าอี้กระทรวงต่างๆ จึงเป็นเรื่องคุ้นตาของคอการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าตัวแทนกลุ่มใด พรรคใด ได้เป็นรัฐมนตรี นั้นหมายถึงผลงานที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น เสมือนการการันตีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือการเข้าไปนั่งในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ถือว่าเป็นโอกาสในการเสนอ ผลักดันนโยบายของพรรคตนเอง

แน่นอน ยิ่งสูงยิ่งหนาว การนั่งในกระทรวงใดๆ ล้วนแล้วแต่ต้องพร้อมรับมือกับ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลเสียงข้างมาก มีส.ส.ร่วมรัฐบาลมากขึ้นเท่าใด ก็สร้างความมั่นใจได้มากขึ้นเท่านั้นว่า เมื่อใดก็ตามที่ถูกกล่าวหา คอรัปชั่น ไม่ไว้วางใจ และมีลงคะแนน ก็จะสามารถรอดไปได้นั่นเอง

แฟนคลับการเมืองไทย ไม่เคยเปลี่ยน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แฟนคลับการเมืองจำนวนไม่น้อยอยู่บนโลกออนไลน์ ต่างไปจากเมื่อ 5 ปีก่อนค่อยข้างมาก และกระแสข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย การใส่สีตีไข่ ให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นมากตามไปด้วย และรวดเร็วกว่าเดิมอย่างมาก

แต่เป้าหมายหลักไม่เปลี่ยน คือ การดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม / ชื่นชมฝ่ายตนเอง

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ความฝันของใครหลายคนที่อยากให้เกิด “การเมืองในเชิงสร้างสรรค์” คงเป็นได้แค่การเมืองในอุดมคติ เพราะเมื่อหากลองไล่ตามเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ หรือในไลน์ ยังคงเห็นการด่าทอฝ้ายตรงข้ามกันอยู่แทบทั้งสิ้น ดังเช่นในประเด็น วิวาทะของ ส.ส. หญิงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายออกมาสาดถ้อยคำนแรงใส่กันอย่างต่อเนื่อง

หมาเห่า อย่าเห่าตอบ เพราะจะทำให้มีหมาเพิ่มอีกหนึ่งตัว

หากไม่ชอบใคร ก็อย่าเหมารวมว่าเขาผิดหรือเลว อย่าเอาผู้นั้นเป็นครู หรือเลียนแบบการกระทำของเขา

ถึงเขาจะด่าเราอย่างเสีย ๆ หาย ๆ นั้นก็ไม่ใช่เหตุผล ที่เราควรจะด่ากลับ

ท่านพุทธทาสภิกขุ

ดังนั้นการเมืองไทยในตอนนี้ ดูแล้วก็ไม่ต่างจากเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่เปลี่ยนจาก สภากาแฟ ในยามเช้า มาเป็น สภาโซเซียล แบบเรียลไทม์

หากเราอยากเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลง ต้องต้องเริ่มคิดกันว่า เราจะเริ่มต้นกันอย่างไรดี เพื่อให้การเมืองแบบสร้างสรรค์ไม่เป็นเพียงแค่ความฝันลมๆแล้งๆ เช่นเดิม

โต๊ะข่าวการเมือง MThai News