หมดไฟในการทำงาน โรคเบิร์นเอาต์

สัมภาษณ์พิเศษ : หมอแพท เพจหมอตุ๊ด ยืนยัน ‘เบิร์นเอาต์’ ไม่ใช่โรค แค่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้ โรคเบิร์นเอาต์ (burnout) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้า มีทัศนคติด้านลบต่องาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งนี้…

Home / NEWS / สัมภาษณ์พิเศษ : หมอแพท เพจหมอตุ๊ด ยืนยัน ‘เบิร์นเอาต์’ ไม่ใช่โรค แค่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน

ประเด็นน่าสนใจ

  • องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ โรคเบิร์นเอาต์ (burnout) หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นอาการที่ต้องรักษา
  • ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานเรื้อรัง 
  • แพทย์ เผยอาการดังกล่าวไม่ใช่โรค แค่เป็นปรากฎการณ์ที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้ โรคเบิร์นเอาต์ (burnout) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้า มีทัศนคติด้านลบต่องาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ทั้งนี้ ทีมข่าว MThai ได้ต่อสายตรงถึง นพ.อุเทน บุญอรณะ อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา แอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หมอตุ๊ด’ เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว

นพ.อุเทน บุญอรณะ อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา

โดย นพ.อุเทน เผยว่า หลังจากที่ทาง องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศก็มีความเข้าใจผิดเป็นวงกว้างทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ทำให้ต้องออกประกาศฉบับถัดไปว่า มันไม่ใช่โรค ไม่ใช่ภาวะทางการแพทย์ แต่เรียกว่า ฟีโนมีน๊อต เป็นปรากฎการณ์ที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น และควรจะเริ่มใส่ใจกับเรื่องนี้ จริงๆ

นอกจากนี้ นพ.อุเทน มองว่า ภาวะเบิร์นเอาต์ (burnout) เป็นภาวะหนึ่งที่คนจะเจอได้คือ หมดไฟในการทำงาน แต่หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองหมดไฟ แล้วคิดเลยเถิดไปว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งภาวะนี้แยกย่อยเป็น 2 อย่าง คือ คุณหมดไฟในการทำงาน กับ คุณหมดใจกับที่ทำงาน

บางทีอาจจะไม่หมดไฟในการทำงาน ยังคงรักเนื้องานนี้ ยังรู้สึกว่ามีความสุขที่จะได้ทำงาน แต่ไม่ได้อยากเสวนากับใครในที่ทำงาน อย่ามายุ่งกับฉัน ขอฉันทำงาน ถึงเวลาก็ทำงาน พักก็พักตามเวลางาน หมดเวลางานก็กลับบ้านปกติ ภาวะดังกล่าวคือหมดใจกับที่ทำงาน แต่ภาวะหมดไฟ คือความรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว อาจจะนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้

จะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองอยู่ในจุดที่หมดไฟหรือไม่

นพ.อุเทน แนะนำว่า ให้ทดลองทำแบบทดสอบ PHQ-9 เพื่อประเมินตนเองจากคะแนนที่ได้ หากทำแบบทดสอบแล้วคะแนนเกินแต้มที่ระบุไว้อาจจะต้องพบจิตแพทย์โดยด่วน อย่าใช้ความรู้สึกตัวเองหรือคนรอบข้างในการวัดว่าจะเป็นภาวะดังกล่าว ควรใช้มาตรฐานที่วัดให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นพ.อุเทน กล่าวปิดท้ายว่า คนเราอาจจะไม่ได้หมดไฟ เพียงแต่ว่าไฟของเรามันย้ายไปอยู่ที่อื่น ตอนแรกเราอาจจะเคยคิดว่าเรามีไฟกับการทำงาน ก่อร่างสร้างตัว พักหนึ่งไฟที่ทำตรงนี้หมดไป แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่มันอาจจะย้ายไปจุดอื่นก็ได้ ให้ลองมาคิดดูว่าไฟของเรามันย้ายไปจุดไหน