กัญชา มะเร็ง

หนีหมอไปใช้กัญชาตามเพื่อน สุดท้ายค่าตับพุ่งกว่า 5 เท่า หมอแนะต้องใช้ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ในประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้นอกจากการเมืองไทยแล้ว เรื่องของ “กัญชา-น้ำมันกัญชา” ดูจะเป็นประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งในวงการแพทย์นั้น ได้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ล่าสุด พล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้แชร์ข้อความของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย…

Home / NEWS / หนีหมอไปใช้กัญชาตามเพื่อน สุดท้ายค่าตับพุ่งกว่า 5 เท่า หมอแนะต้องใช้ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ในประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้นอกจากการเมืองไทยแล้ว เรื่องของ “กัญชา-น้ำมันกัญชา” ดูจะเป็นประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งในวงการแพทย์นั้น ได้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ล่าสุด พล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้แชร์ข้อความของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นของ “น้ำมันกัญชา”

ในโพสต์นั้นเอง ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เป็นคุณหมอท่านหนึ่ง โดยมีข้อความว่า

วันนี้คนไข้มะเร็งลำไส้มาตรวจ

6 เดือนที่ผ่านมา ใช้กัญชาตามเพื่อนแนะนำ หนีการรักษาไปเลย วันนี้ตรวจค่า CEA จาก 113 ทะยานสู่ 597 กะจะเอาไปอวดเพื่อนว่ากัญชาได้ผล

ร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา ถามว่า ยังทันไหมหมอ
ค่าตับก็แย่ลง ในใจตอบว่า คงไม่ถึงสิ้นปีนี้ครับ

หมอได้แต่ยิ้มแล้วบอกว่า สู้ๆ ดีกว่าไม่ทำไรเลย ขอบคุณที่ทดลองแทนคนอื่นนะ

ทางทีมงาน MThai News จึงได้สอบถามเรื่องราวไปยัง นพ.กรธัช อชิรรุจิกร เพิ่มเติม ได้ความว่า

คนไข้ดังกล่าวเป็นมะเร็งลำไส้กระจายไปตับแล้ว โดยปกติยาเคมีจะฆ่ามะเร็งชนิดนี้ระยะนี้ได้ 30% เรียกว่ากดไม่ให้เป็นหนัก หรือยืดอายุไปได้สักระยะ ไม่แปลกที่คนไข้มะเร็งลำไส้ระยะกระจายจะหันไปเลือกการรักษาด้วยกรรมวิธีการอื่น

คนไข้ตัดสินใจไม่มาตามนัด และไปใช้กัญชาจากคำแนะนำของเพื่อน ใช้แบบสวนทวาร และหยดทางปาก เสียเงินไปหลายหมื่น พอครบ 6 เดือนเลยมาขอตรวจ CEA คนไข้ตั้งใจได้ยินค่า CEA ต่ำลง แต่พอบอกสูงขึ้นไปเกิน 5 เท่าจากเดิม คนไข้เริ่มหน้าเสีย และฟังข้อมูลการรักษาใหม่อีกครั้ง

โดยตัดสินใจรักษาแบบแพทย์ปัจจุบันร่วมกับกัญชาเพื่อลดผลข้างเคียงจากยาเคมี และช่วยให้หลับดีขึ้น ปวดอืดท้องลดลง เข้าใจหลักการรักษาแบบประคับประครอง และขอมีความสุขกับเวลาที่เหลือ

ไม่ใช่รายเดียวที่ใช้กัญชาร่วมกับการรักษา

คนไข้ที่คุณหมอดูแลอยู่นั้นหลายคนที่มีการใช้กัญชาร่วมด้วย ซึ่งจากที่คุณหมอดูแลอยู่นั้น มีราว 10 คนที่ยอมรับว่า มีการใช้กัญชา-น้ำมันกัญชาร่วมด้วย

สำหรับคนไข้รายอื่นๆ ที่เจอ มีทั้ง รักษาเคมีตามรอบปกติ แต่แอบบอกว่าใช้กัญชา ทำให้สบายตัวขึ้น พักผ่อนดีขึ้น แต่ผลข้างเคียง เช่น อาการชามือจากยาเคมีบำบัดที่สกัดจากดอกแพงพวยฝรั่ง ไม่หาย ยังต้องใช้ยารักษาปลายประสาทอักเสบในปริมาณเดิม

ในรายที่ใช้ร่วมกับยามุ่งเป้าจากต่างประเทศ ก็ลดความวิตก ผ่อนคลายมากขึ้น (เคยลองหยุดกัญชาแล้วเครียด จนต้องใช้กัญชาอีกรอบ) รายนี้มะเร็งกระดูกกระจายเข้าตับแล้ว หมอบอกลูกชายว่าอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ลูกชายอยู่ออสเตรเลียมีเพื่อนเป็นหมอ ก็แนะนำให้ใช้คู่การรักษามุ่งเป้าและกัญชาไปเลย ยังไงก็อยากให้คนไข้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวาระชีวิตที่เหลือ

ไม่มีใครบอกกัญชาทำให้รอดนะครับ

คุณหมอกรธัช อชิรรุจิกร กล่าว

บางรายรักษา ครบคอร์สแล้วด้วยยาเคมี แต่อยากใช้กัญชาเพิ่มเพราะคิดว่าจะกดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นได้ ยังมารักษาตามนัด โรคสงบดี อารมณ์ดีขึ้น เลยแซวไปว่านี่ติดยาหรือเปล่า

หมอไม่กลัวกัญชา แต่ต้องเข้าใจ และใช้ให้ถูก

อีก 2-3 รายรักษาด้วยเคมีสงบมาหลายปี ปีที่แล้วไปต่อคิวยาหมอรายหนึ่ง มาปีนี้ใช้กัญชา ทันสมัยจริงๆ เลยแนะนำไปว่า ให้เลือกสมุนไพรที่มี อย. รองรับ กัญชาไม่กลัว กลัวของปลอมมากกว่า ของที่ไม่มีคุณภาพ

มีรายนึงเป็นแคปซูล ราคาเม็ดละ 15 บาท กินแล้วมึนเวียนหัว ไม่สบายตัว ทานมาได้เดือนนึง เลยอธิบายไปว่า ปกติส่วนที่สกัดมาจะเป็นน้ำมัน ที่มี CBD เข้มข้น กัญชาที่แพงๆ จะมี THC น้อย การทำเป็นแคปซูล หมอว่า สิ่งที่ใส่แคปซูลแบบนี้ได้ คือ ใบกัญชาบด หรือ น้ำต้มกัญชาเคี่ยวจนแห้ง น้ำมันกัญชาแปรรูปเป็นแคปซูลผงไม่ได้ ถ้าจะทำได้คือแบบแคปซูลเจล เหมือนพวก วิตามินอี

คนไข้พอเราอธิบายแบบไม่บวกไม่ลบ เขาก็รู้ตัวเองว่าไม่ควรทานต่อ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือเลย ที่สำคัญกินมาเดือนนึง อาการเมาทำให้ใช้ชีวิตลำบากกว่าเดิม

อีกเคส คนไข้ทานยาละลายลิ่มเลือด ต้องระวัง

บางรายมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือด ที่เจอคือ คนไข้หัวใจเต้นพริ้วผิดจังหวะแบบ AF ต้องทาน Warfarin ป้องกันลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดสมอง เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มีโอกาสเกิด 6%

ทีนี้คนไข้เป็นมะเร็ง เลยไปหากัญชามาทานคู่กับยาเคมี หมอหัวใจปรับระดับยา Warfarin ไม่ได้ เลยส่งมาให้ผมช่วยปรับยาให้ ปกติทานวันละ 5 mg ตอนนี้วันละ 15 mg ยังปรับระดับยาขึ้นไปถึงจุดป้องกันลิ่มเลือดอุดตันสมองไม่ได้เลย จึงแนะนำทางเลือกให้คนไข้ 3 ทางเลือก

  1. เปลี่ยนยาเป็นยาที่ไม่ต้องปรับระดับยา ทานวันละเม็ด ต้องจ่ายเอง ตกเม็ดละ 150฿
  2. เพิ่มปริมาณยา warfarin แต่เสี่ยงมากถ้าเผลอหยุดหรือลดกัญชา อาจทำให้ยามีระดับสูงเกินไปทำให้เลือดออกในสมองได้ (ไม่ได้ตายจากมะเร็งแล้ว ตายจะเลือดออกในสมองหรือในทางเดินอาหารแทน)
  3. ไม่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ยังคงใช้กัญชาตามเดิม ยอมรับความเสี่ยง 6% ที่จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต (มะเร็งก็เป็น พิการก็เป็น)
  4. หยุดกัญชา แล้วลด Warfarin ตามที่กินก่อนหน้านี้ที่คุมระดับได้ดีมากๆ

คนไข้เลือก ข้อ 3 ใช้เคมีควบคู่กัญชาซื้อเอง ซึ่งคุณหมอระบุว่า

บางทีคนให้ข้อมูลก็สำคัญนะครับ

แต่สุดท้ายคนเลือกนี่ล่ะ ก็สำคัญกว่า เพราะคือตัวเขาเอง

ย้ำ การรักษามะเร็งทางเลือก สิ่งสำคัญคือ “ต้องเข้าใจ”

นพ.กรธัช อชิรรุจิกร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จริงๆ ยาเคมีหรือยาแผนปัจจุบันหลายตัวมาจากสมุนไพรสกัด

50-70 ปีที่แล้ว คนยุคนั้น ตื่นเต้นมากที่สกัดยาฆ่ามะเร็งจาก ดอกแพงพวยฝรั่ง จากแบคทีเรียในดินบางชนิด จากศาสตร์หลายประเทศ แต่มายุคนี้ คนก็เรียกเขาว่ายาพิษ เพราะนอกจากฆ่ามะเร็งแล้ว ยังส่งผลกระทบกับเซลล์ดีๆ ไปด้วย

กัญชาก็เช่นกัน ปีนี้ ทุกคนอาจตื่นเต้นกับงานวิจัยข้อดี แต่พอใช้มากขึ้น ใช้ไปนาน เราอาจเจอข้อเสีย ที่คนรุ่นหลาน อาจเรียกกัญชาว่า ยาพิษ ไม่ต่างอะไรที่คนยุคนี้ เรียกแพงพวยฝรั่ง ว่า ยาพิษ ยาเคมีร้ายกาจก็เป็นได้

ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทีมงาน MThai News พบว่ามีข่าวในแง่มุมของการรักษามะเร็งด้วยวิธีทางเลือกเป็นจำนวนมาก หากยังจำกันได้ “ทุเรียนเทศ” ก็ได้รับความนิยมมากเมื่อช่วง 3-4 ปีก่อนเช่นกัน

คุณหมอย้ำ “ใช้กัญชาไม่กลัว กลัวปลอม-ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า”

ในการพูดคุย นพ.กรธัช อชิรรุจิกร กล่าวว่า ในการใช้กัญชานั้น หากรู้จักวิธีการเลือกใช้นั้น กัญชาก็ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าการใช้กัญชานั้นคือ การเลือกกัญชาที่จะมาใช้งานว่า จะต้องได้มาตรฐาน ไม่ได้มีการปลอมปน เนื่องจากการใช้กัญชาที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้

โดยกัญชาหรือน้ำมันกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน นั้นจะมีความเสี่ยงที่จะมีการปนเปื้อนจากสารเคมีบางอย่างเช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนของการสกัดน้ำมันได้ รวมทั้งปริมาณของตัวยาที่มีในผลในผลิตภัณฑ์ที่นำมาไช้ เนื่องจากหากมากไป-น้อยไป ก็จะส่งผลกระทบกับการรักษาได้ทั้งสิ้น

ทำความรู้จักค่า CEA เบื้องต้น

สำหรับค่าCEA ที่เอ่ยถึงนั้น มาจาก Carcinoembryonic Antigen ซึ่งเป็น โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา โดยปรกติแล้วเจ้าค่า CEA ตัวนี้ โดยผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ นั้นจะมีค่าน้อยกว่า 2.5 ng/ml ผู้ที่สูบบุหรี่จะน้อยกว่า 5 ng/ml แต่ถ้าหากค่ามากกว่า 100 ng/ml มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ มักจะตรวจพบค่านี้สูงขึ้นได้ในหลายกรณีเช่น ผู้ที่มีภาวะอักเสบของอวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะอาหาร ลำใส้ ตับ และเจ้า CEA ตัวนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากเซลล์มะเร็งต่างๆ สร้างขึ้นมาอีกด้วย โดยเฉพาะ มะเร็งลำใส้ใหญ่

ซึ่งคุณหมอยังได้ให้ข้อมูลว่า จริงๆ CEA ไม่ใช่ค่าสำหรับวินิจฉัยมะเร็ง แต่เอาไว้ติดตามการรักษา ถ้าเพิ่มขึ้นแสดงว่ามะเร็งน่าจะขยายขนาดหรือกระจายมากขึ้นแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.กรธัช อชิรรุจิกร