ประเด็นน่าสนใจ
- ช่วงค่ำวานนี้ (22 ก.พ.64) ‘ทักษิณ’ เข้าร่วมพูดคุยใน “คลับเฮ้าส์” (Clubhouse) แอปพลิเคชั่นสื่อสารด้วยเสียง
- ใช้ชื่อ Tony Woodsame เข้าร่วมสนทนาในห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้”
- มีการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องนโยบาย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี
มีรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (22 ก.พ.64) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ ได้เข้าร่วมพูดคุยใน “คลับเฮ้าส์” (Clubhouse) แอปพลิเคชั่นสื่อสารด้วยเสียง ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
โดย อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้ชื่อ Tony Woodsame เข้าร่วมสนทนาในห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐบาลทักษิณ อาทิเช่น นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และคนดังไทยรักไทยอีกหลายคน
โดยมี นายธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตโฆษกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีการพูดคุยกันนานถึง 2 ชม.และหลังจากเปิดห้องไม่กี่นาที มีผู้เข้าฟังเต็มห้อง 8,000 คน จนมีการนำเสียงขยายไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ห้อง มีคนเข้าร่วมฟังไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน
สำหรับใจความสำคัญที่ นายทักษิณ พูดคุยในครั้งนี้ ประกอบด้วย
โครงการรักษา 30 รักษาทุกโรค ในมุมมองการเป็นประชานิยมหรือไม่?
นายทักษิณ ได้อธิบายว่า ที่ผ่านมาเป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายที่เห็นต่างของนโยบายจะหาจุดตำหนิของนโบายนั้น ๆ ซึ่งในช่วงนั้นหลายฝ่ายมองว่าทางรัฐบาลออกนโยบายมาเพื่อตามใจประชาชน แต่จริง ๆ แล้วประชาชนเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาโดยตรง ซึ่งทางรัฐบาลก็สามารถจัดสรรงบประมาณได้ และไม่ได้เป็นการใช้จ่ายเกินตัวกับสถานะการคลังของเรา
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ฝ่ายเห็นต่างจะอ้างว่าเป็นนโยบายประชานิยม ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นนโยบายที่สามารถทำได้และอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง อีกทั้งยังช่วยเสริมในเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทยมีความยืดหยุ่นตัว มีความแข็งแรงไปได้อีกหลายปี ซึ่งหลังจากมีการปฏวัติ เศรษฐกิจก็มีการถดถอยลงมาบ้าง แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังสามารถอยู่ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อประชาชน
การเป็นประชานิม ผมจะเคารพวินัยทางการคลังอย่างมาก ต้องมีการกำหนดที่แน่นอนว่าในแต่ละปีจะขาดดุลไม่เกินเท่าไหร่ ต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งจะสามารถวางแผนในการลดหนี้ และเพิ่ม GDP ของประเทศได้ เพื่อให้สัดส่วนมันลดลง กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2548-2549 สามารถทำงบประมาณขาดดุลเป็นงบประมาณสมดุลได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งการทำประชานิยมของเราจึงไม่ได้เป็นนโยบายที่ไปผลาญงบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงสถานะการคลังของรัฐ
นโยบายอะไรที่คิดว่ายังทำไม่สำเร็จ สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายทักษิณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วนโยบายต่าง ๆ สามารถทำได้ไปเยอะแล้ว สิ่งสำคัญคือเราอยากจะทำเรื่องของการกระจายเงินให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ต้องกระจายเงินไปสู่ทุกระดับชั้น ต้องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในการทำมาหากินได้
ซึ่งอันนี้มองว่ายังทำไม่สำเร็จ อีกเรื่องคือ ‘เรื่องภาคใต้’ มองว่าต้องใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งต้องใช้ระบบการเจรจาการพูดคุยกันให้มากขึ้น โดยสำหรับผมมองว่า 2 เรื่องนี้ยังเป็นซึ่งที่ยังติดค้างอยู่
ที่มาของสินค้า ‘โอทอป’
นายทักษิณ ระบุว่า การ Creative Economy หรือ การทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เทรนด์ของโลก คือเทคโนโลยี และเศรษฐกิจฐานความรู้ ตนมองว่าคนไทยมีความศักยภาพอยู่ในตัว
หากจัดสรรให้เป็นระบบมีสถาบันสอนคนกลุ่มนี้มันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สามารถสร้างช่องทางทำมาหากินได้เอง จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งโครงการ OTOP ขึ้นมา ซึ่งได้แนวคิดมาจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น และต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
นายทักษิณ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากการที่ได้ผลักดันหวยบนดิน ซึ่งปรากฏว่าได้เงินมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินเหล่านี้มันเคยอยู่ในมือของนักเลงทั้งหลาย ซึ่งเจ้ามือหวยใต้ดินจะเป็นหัวคะแนนในการซื้อเสียงได้ดีที่สุด โดยหวยบนดินนั้นได้มอบให้ทางกองสลากฯ นำไปต่อยอด
โดยตนได้สัญญาว่าเงินในส่วนนี้จะไม่นำมาใช้สักบาทเดียว ทางรัฐบาลก็จะนำกลับไปสู่ประชาชน จากแนวคิดที่ว่า เงินมันได้มาจากเงินโง่ ๆ แต่เรานำรายได้จากส่วนนี้นำกลับไปสร้างคน นำไปให้เยาวชนที่เรียนหนังสือเก่งสอบชิงทุนกัน จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว
กรณีการสลายการชุมนุมตากใบ และกรือเซะ
นายทักษิณ กล่าวว่า สถานการณ์ ณ ขณะนั้น ส่วนใหญ่เป็นการควบคุมของทางทหาร ซึ่งได้รับรายงานมาโดยตลอด ตนก็เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุกาณณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ทางด้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาฯ นายกฯ สมัยทักษิณ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์กรือเซะว่า ในเวลานั้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการประกาศกฎอัยการศึก และกองทัพได้เข้าไปรับผิดชอบสถานการณ์ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้รับรู้เรื่อง
ที่มาของ ชื่อ “โทนี่”
นายทักษิณ กล่าวว่า ที่มาของชื่อนั้น ได้มาจากสมัยไปเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ผมออกเสียงชื่อตัวเองว่า ‘ทักษิณ’ แต่อาจารย์ก็พูดไม่ได้สักที จึงเรียกผมว่า ‘โทนี่’ ผมจึงใช้ชื่อเล่นง่าย ๆ ว่า ‘โทนี่’
ความหวังทางการเมืองของ ‘คนรุ่นใหม่’
นายทักษิณ มองว่า ควรผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองจะดีหรือเฮงซวย ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ ผมมาในรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งผมถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและเป็นฉบับที่ดีมาก
แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกร่างโดยคณะรัฐประหาร ย่อมไม่มีทางดีต่อประชาชน จึงมองว่าหากประชาชนต้องรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ก็ต้องร่วมกันผลักดัน หากกติกาดีการเมืองก็จะดีตาม