เลือกตั้ง62

[ล่าสุด] เพิ่มคำแถลงอย่างเป็นทางการ – มติ ปชป. เห็นพ้อง ร่วม พปชร.ตั้งรัฐบาล โหวตลุงตู่

วันนี้(4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกรรมการบริหารและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากการแสดงความคิดเห็นของที่ประชุม ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล เป็นไปอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาประชุมกันนาน 5 ชั่วโมง นายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนพรรค และอดีต…

Home / NEWS / [ล่าสุด] เพิ่มคำแถลงอย่างเป็นทางการ – มติ ปชป. เห็นพ้อง ร่วม พปชร.ตั้งรัฐบาล โหวตลุงตู่

ประเด็นน่าสนใจ

  • พรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ
  • มติ 61 ต่อ 16 เสียง
  • ยืนยันว่า หากไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งปัญหาปากท้องประชาชน-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
  • ยืนยันว่า ว่าจะมีการยกมือโหวตพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามมติพรรค
  • สาเหตุที่ไม่ไปเข้าร่วมกับเพื่อไทย คือ แม้ว่าร่วมกัน แต่ก็ไม่สามารถโหวตเลือกได้เพียงพออยู่ดี

วันนี้(4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกรรมการบริหารและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
หลังจากการแสดงความคิดเห็นของที่ประชุม ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล เป็นไปอย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาประชุมกันนาน 5 ชั่วโมง นายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนพรรค และอดีต ส.ส.ระนอง เสนอให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ เพื่อให้เกิดความสบายใจและไม่ต้องเกรงใจซึ่งกันและกัน

ภาพประกอบข่าว

โดยผลการประชุม มีการลงมติผลคะแนนปรากฏว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ มี 61 เสียง ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มี 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง บัตรเสีย 1 ใบ รวมมีองค์ประชุมทั้งหมดจำนวน 80 คน

สรุปแถลงการณ์ พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ

ในการประสานงานกับ พรรคพลังประชารัฐ ผ่านเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่พรรคเสนอ ได้รับการตอบรับ จาก พปชร.ทั้ง 3 ข้อคือ

  1. นโยบายแก้จน สร้างคนสร้างชาติ โดยเฉพาะการประกันรายได้เกษตรกร
  2. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  3. เงื่อนไขในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ซึ่งหากผิดไปจากเงื่อนไขเหล่านี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถสงวนสิทธิ์ในการทบทวนการร่วมรัฐบาลต่อไปในอนาคต

พรรคตระหนักดีว่า ปชช. ได้ตัดสินให้พรรคเป็นพรรคขนาดกลาง ทำให้ไม่สามารถบรรลุนโยบายที่ให้ไว้ทุกอย่าง  และก็ตระหนักดีว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปในทิศทางไหน ก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงจะต้อง

1. ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
2. จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาได้
3. แก้ไขปัญหา ศก. ปากท้องให้แก่ปชช. ในด้านรายได้ โดยเฉพาะเศรษกิจฐานรากได้

ยืนยัน การตั้งรัฐบาลใหม่ = ปิดสวิทช์ คสช.

ในอีกนัยยะหนึ่ง ก็เหมือนกับการปิดสวิทช์คสช. ซึ่งคสช.จะหมดอำนาจเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ จะแก้ไข รธน. เพื่อปลดล็อก ป้องกัน การฉีก รธน. ในอนาคต ซึ่งพรรคจึงได้มีมติ ตอบรับการเข้าร่วม รบ. กับ พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อพรรคมีมติ ปชป. เข้าร่วม รบ. จึงมีมติ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ด้วย ซึ่งเหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ทางพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วม ได้สนับสนุนนายชวน หลีกภัยก่อนหน้านี้ด้วย

คำแถลงผลการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับเต็ม

เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 มิ.ย.) เว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ เผยแพร่ คำแถลงผลการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหาร และ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

4 มิถุนายน 2562

สืบเนื่องจากการที่ พรรคพลังประชารัฐ ได้มาเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ได้มอบหมายให้ท่านเลขาธิการพรรค (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อเจรจาในรายละเอียดทั้งหมด ในที่ประชุมวันนี้ท่านเลขาธิการพรรค คือท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าบัดนี้การประสานงานทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงและเป็นอันได้ข้อยุติแล้ว โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนั้น ได้รับการตอบรับทั้ง 3 ข้อ

ข้อที่ 1 ในเรื่องของนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ได้รับการยอมรับที่จะบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

ประการที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เงื่อนไขประการนี้ก็ได้รับการตอบรับ

ประการที่ 3 เงื่อนไขในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ได้รับการตอบรับเช่นเดียวกัน

โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งให้ทราบว่า หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคฯ สามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนในอนาคตได้ ในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล

สำหรับในการพิจารณาของที่ประชุมพรรคฯ ในวันนี้ ได้มีการนำหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ของพรรค ในเรื่องการแสดงท่าทีของอดีตหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปในช่วงของระยะเวลาการหาเสียง รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ว่าจะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจังได้อย่างไร

นอกจากนั้นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ตัดสินผลการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 53 ท่าน ซึ่งวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะบรรลุความประสงค์ของพรรคฯ ได้ทุกอย่าง

อย่างไรก็ตามที่สำคัญก็คือว่า พรรคฯ ได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคฯ อย่างกว้างขวาง อย่างแน่นอน การตัดสินใจของพรรคฯ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ของพรรค

ทั้งนี้ก็เพื่ออย่างน้อย ประการที่ 1 ต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้

ประการที่ 2 ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้

และในประการที่ 3 ให้ประเทศสามารถที่จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก อันได้แก่ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด รวมทั้งชาวประมง ได้สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ในการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้

และในประการที่ 4 การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในอีกนัยยะหนึ่ง ก็เสมือนกับการหยุดอำนาจ หรือการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช. จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

ในประการที่ 5 เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น นั่นก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อคหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาถึงประเด็นแวดล้อมทั้งหมดแล้ว พรรคฯ จึงได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และโดยเหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลนี้มีมติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล จึงได้มีมติเห็นควรสนับสนุนตามมติของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยมีมติสนับสนุน ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญๆ ที่ขออนุญาตเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบ

 

ช่วงตอบคำถามสื่อ

Q: ก่อนหน้านี้บอกว่า การสนับสนุนคุณชวน ไม่เกี่ยวข้องกับ ตำแหน่งนายกฯ
A: จริงๆ ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนหน้านี้บ้างแล้วในเรื่องนี้

Q: พรุ่งนี้ ส.ส. ปชป. ทุกคนจะยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช่ไหม?
A: ก็ตามมติพรรคเป็นไปในทิศทางนั้น ตามที่ พปชร. เสนอ

Q: แล้วที่ คุณอภิสิทธิ์ เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้จะมีการโหวตสวน-งดออกเสียงไหม
A: ก็เป็นไปตามมติพรรค

Q: แล้วกับความน่าเชื่อถือของพรรคล่ะ? A: ก็ในการร่วม รบ. ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของชาติ ปิดสวิทช์ คสช.ทางหนึ่ง และแก้ไข รธน. ได้ด้วยนั่นเอง

Q: ในการแก้ไข รธน. เป็นประเด็นหลวมๆ หรือไม่?
A: ในการแก้ไข รธน. ต้องใช้เสียงของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งร่วมไปถึงการทำประชามติด้วยในบางประเด็น ดังนั้นจำเป็นจะแก้เพื่อปลดล็อกให้การแก้ไขต่อไปด้วย ทำให้จำเป็นต้องเข้าร่วม รบ.

Q: ประเด็น รธน.
A: เงื่อนไขเวลาในการแก้ไข ได้มอบหมายให้เลขาฯ พรรค ไปร่วมหารือกับ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ นี้ด้วย

Q: จะยืนยันได้อย่างไรว่า จะไม่อ้างแก้ รธน. เพื่อร่วม รบ.นานๆ
A: ก็อยู่ที่จะนโยบายและเงื่อนไขเวลาในการแก้ไข ที่มีความชัดเจน โดยพรรคสามารถทบทวนการร่วมรัฐบาลได้ตลอดเวลา

Q: ตอนนี้มีกระแสว่า สมาชิกพรรคลาออกบนโซเซียล
A: ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ยาก ไม่ว่าจะตัดสินไปในทางก็มีผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นพรรคได้ตัดสินอย่างดีที่สุดแล้ว โดยคำนึงถึงทุกเสียงที่หายไป ในวันนึงเราก็หวังว่า ผลงานที่เกิดขึ้นจะตอบแทนได้

Q: ที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศไว้ก่อนหน้านี้ทำอย่างไร
A: ในประเด็นนี้จึงได้มีเงื่อนไข ในการร่วมรัฐบาล ที่ได้กล่าวไปแล้ว

Q: แล้วทำไมไม่เลือกร่วมกับ #พรรคเพื่อไทย
A: ไม่ได้กลัวการเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าจะนำนโยบายมาใช้ให้เกิดผลแก่ประชาชน ก็จึงจำเป็นต้องร่วมรัฐบาล เพราะปชป. กลายเป็นพรรคขนาดกลาง ซึ่งก็เป็นมติพรรค ที่มีการลงคะแนนกันเป็นไปตามประชาธิปไตย

Q: แล้วอุดมการณ์ของพรรคล่ะ
A: ก็ยังคงอยู่และเป็นไปในแนวทางของอุดมการณ์ของพรรค

Q: จริงๆ เหตุผลทั้งหมด หากร่วมกับ #เพื่อไทย ก็ทำได้นี่?
A: ด้วยหลายๆ เหตุผล ทำให้เราเลือก พปชร. และหากไปร่วมกัน คะแนนเสียงก็ไม่พอในการเลือกนายกฯ อยู่ดี

Q: รบ.ปริ่มน้ำจะไปรอดไหม?
A: ก็ในของการเมืองในระบบรัฐสภา ที่รัฐสภาจะต้องดำรงความเป็นเสียงข้างมากให้ได้ ดังนั้นต้องไปว่ากันด้วยระบบรัฐสภา

Q: ถ้าจะรักษาฐานคะแนนเสียง ส.ส. ก็ต้องใช้เงินสิ?
A: การใช้เงิน ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง ที่จะเลือกใช้สภาวะแบบนั้น

Q: แล้วถ้าเสียงปริ่มน้ำ ต้องไปขอฐานเสียงมาโปะ จะไม่เสี่ยงเหรอ
A: อย่างไร รบ. ก็ต้องรักษาเสียงไว้ได้

Q: หากเป็น รบ. แล้วรักษาเสียงไว้ได้ แต่จะรักษาชื่อเสียง-ฐานเสียง ปชช. ไว้ได้เหรอ
A: ผลงานจะเป็นตัวตอบ ว่า ปชช. จะเลือกหรือไม่

Q: ทำไมต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์
A: เราร่วมกับ #พรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง พปชร. ก็เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ในวิถีทางนี้ ก็ต้องยอมรับการอภิปราย ชี้แจงให้ได้

Q: กรณีการร่วมรบ. จะทำให้กลุ่มก้อนใน พปชร. เสียผลประโยชน์ กลายเป็นงูเห่าได้ไหม?
A: อันนี้ ก็เป็นเรื่องของ พปชร. ที่จะต้องไปจัดการดำเนินการ ดังนั้น พปชร. ต้องไปดำเนินการ