ประเด็นน่าสนใจ
- 20 วันของการทำรัฐประหารในเมียนมา ประชาชนยังคงออกมาเดินขบวนประท้วง – เคาะหม้อ ขับไล่รัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงที่เนปิดอว์ เสียชีวิตแล้ว
- อังกฤษ คว่ำบาตรเพิ่ม 3 นายพลกองทัพเมียนมา
ในหลายเมืองของเมียนมา ยังคงมีประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในย่างกุ้ง กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ได้ออกมาร่วมกันเดินขบวนประท้วง ซึ่งหลังจากที่กองทัพเมียนมาได้ประกาศว่าจะมีการจับกุมแกนนำการเคลื่อนไหวหลายคน รวมถึงกลุ่มแพทย์-พยาบาลที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย
ซึ่งทางกองทัพเมียนมานั้นมองว่า กลุ่มแพทย์-พยาบาล เป็นกลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวประท้วง ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานอื่น ๆ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น
“ตอนนี้ชาวเมียนมาตื่นขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรต่อ สัญญาณอินเตอร์เน็ตจะใช้ได้หรือไม่ จะมีการสลายการชุมนุม หรือจับกุมใครหรือไม่
ในขณะที่กลางคืนก็ไม่มั่นใจว่า จะมีใครมาบุกบ้าน หรือมีโจรเข้ามาในหมู่บ้านหรือไม่ ทำให้เราต้องมีเวรยามกันในตอนกลางคืนอีกด้วย เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลทหารมีการปล่อยนักโทษออกมากว่า 2 หมื่นคน ซึ่งทำให้เราไม่มั่นใจในความปลอดภัยเลย”
แหล่งข่าว ในกลุ่มย่างกุ้ง
…
กลางวันไปชุมนุม-กลางคืนเคาะหม้อ
การออกมาชุมนุมประท้วงในเมียนมายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเช้า ราว 08.00 น. ไปจนถึงในช่วงเย็นที่จะมีการออกมาเดินขบวน ชุมนุมกันตามจุดต่าง ๆ เพื่อเรีกร้องให้กองทัพคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมตัวไป รวมถึงนางอองซาน ซูจี และแกนนำคนอื่น ๆ ด้วย
ในช่วงค่ำ ก็จะมีการนัดรวมตัวกันเคาะหม้อ บีบแตรประท้วง ซึ่งยังคงเดินหน้าประท้วงกันอย่างต่อเนื่องอีกเช่นกัน
…
ผู้ประท้วงที่ถูกยิง เสียชีวิตแล้ว
หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนในกรุงเนปิดอว์ มีผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกยิงอาการสาหัส เนื่องจากถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะ ล้มลงทันที ซึ่งหลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำตัวเธอส่งโรงพยาบาล และแพทย์ได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยทราบชื่อในภายหลังคือ Ma Mya Thwang Khine อายุ 20 ปี
แต่จากผลการเอ็กซเรย์ แพทย์ระบุว่า อาการสาหัส เนื่องจากกระสุนเข้าที่ศีรษะและสร้างความเสียหายให้กับสมอง ซึ่งวานนี้ ผู้บาดเจ็บรายนี้ ก็เสียชีวิต
…
อังกฤษแบนผู้นำกองทัพเมียนมา
นายโดมินิก ราบ รมต.กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ประกาศมาตรการตอบโต้การทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกองทัพเมียนมาในการยึดอำนาจ-ล้มการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่กองทัพเมียนมาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการทำรัฐประหารและมีการควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี และแกนนำทางการเมืองหลายคน
ในมาตรการคว่ำบาตรของอังกฤษในขณะนี้ มุ่งเป้าไปที่ผู้นำกองทัพเมียนมาเพิ่ม 3 คน ด้วยกันคือ
- พลเอก Mya Tun Oo ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
- พลโท Soe Htut รัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย
- พลโท Than Hlaing รัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงหมาดไทย
โดยอังกฤษ จะมีการอายัดทรัพย์สินของทั้ง 3 คนที่มีอยู่ในอังกฤษ รวมถึงห้ามเดินทางเข้าประเทศอีกด้วย โดยมีผลบังคับใช้ทันที รวมผู้นำกองทัพเมียนมาที่ถูกรายชื่อที่ทางการอังกฤษประกาศคว่ำบาตรรวมทั้งสิ้น 19 คน